สวนป่าสมุนไพรวัดปลักไม้ลาย
สวนป่าสมุนไพรวัดปลักไม้ลายเป็นสวนป่าที่มีเนื้อที่ 92 ไร่ อยู่ในบริเวณวัดปลักไม้ลายซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเดิมพื้นที่บริเวณสวนป่าและใกล้เคียงเป็นที่รกร้าง มีพืชพันธุ์ไม้ขึ้นปะปนกันตามธรรมชาติมากมายหลายชนิดรวมถึงพืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคด้วยจำนวนมากกว่า 500 ชนิดด้วย ซึ่งชาวบ้านและชุมชนที่อยู่อาศัยรอบๆ สวนป่าได้ใช้พืชสมุนไพรเหล่านี้ในการรักษาโรคของตนเอง ครอบครัวและญาติพี่น้องมานานหลายร้อยปีแล้ว ทำให้เกิดการสั่งสมองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยจนกลายเป็นภูมิปัญญาของชุมชนขึ้น และมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาเหล่านี้สู่รุ่นลูกหลานสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ประกอบกับในระยะหลังนี้ การแพทย์แผนไทยได้เป็นที่ยอมรับของบุคคลโดยทั่วไปแพร่หลายและมากขึ้น โดยที่กระทรวงสาธารณสุขเองก็ได้กำหนดให้การแพทย์แผนไทยเป็นหนึ่งในการแพทย์ทางเลือกนอกเหนือไปจากการแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากลักษณะเด่นของการแพทย์แผนไทยที่มีแนวคิดในการรักษาแบบองค์รวม กล่าวคือไม่เพียงแต่มุ่งรักษาเฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยเช่นการแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น หากแต่ยังให้การรักษาแก่ครอบครัว ญาติของผู้ป่วย ชุมชนและสังคมในคราวเดียวกันอีกด้วย ด้วยความสำคัญของสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสวนป่าสมุนไพรวัดปลักไม้ลาย ซึ่งได้แก่ ประชาชน ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครู ฯลฯ ภายใต้การนำของพระครูสุธรรมนาถ เจ้าอาวาสวัดปลักไม้ลายได้ริเริ่มที่จะพัฒนาสวนป่าสมุนไพรแห่งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพร ยาสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยแก่นักเรียน นักศึกษา ผู้ที่สนใจทางสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยและประชาชนทั่วไป
ประวัติวัดปลักไม้ลาย ชุมชนปลักไม้ลาย
ชุมชนปลักไม้ลาย อยู่ในเขตหมู่ที่ 6 บ้านปลักไม้ลาย ตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยที่อำเภอกำแพงแสนอยู่มีพื้นที่ทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอบางเลน ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมืองนครปฐม ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดราชบุรี
ข้อมูลทั่วไปของตำบลทุ่งขวาง
1. ลักษณะที่ตั้ง ตำบลทุ่งขวาง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอกำแพงแสน โดยห่างจากตัวอำเภอกำแพงแสน ประมาณ 7 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดนครปฐมประมาณ 24 กิโลเมตร
2. อาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลรางพิกุล ตำบลห้วยหมอนทองและตำบลทุ่งกระพังโหม ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลหนองงูเหลือม อำเมืองนครปฐม ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลห้วยขวางและตำบลทุ่งกระพังโหม ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลห้วยหมอนทอง
3. เศรษฐกิจ อาชีพหลัก ได้แก่ อาชีพเกษตรกรรม (ปลูกอ้อย หน่อไม้ฝรั่ง ข้าว มะม่วง ผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์) อาชีพเสริม ได้แก่ อาชีพรับจ้าง ค้าขาย รับราชการ
4. การปกครอง ตำบลทุ่งขวาง แบ่งการปกครองเป็น 10 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหลักเมตร บ้านหนองขาม บ้านรางพิกุล บ้านดอนสะอาด บ้านรางแขม บ้านปลักไม้ลาย บ้านบ่อน้ำพุ บ้านหลักเมตรใหม่ บ้านหนองไข่กา บ้านดอนขุนวิเศษ ทั้งตำบลมี 1,186 หลังคาเรือน จำนวนประชากรชาย 2,757 คน หญิง 2,869 คน รวม 5,626 คนเฉพาะในหมู่ที่ 6 บ้านปลักไม้ลาย มี 106 หลังคาเรือน ประชากร เป็นชาย 261 คน หญิง 272 รวม 533 คน ปัจจุบันอยู่ในการปกครองของนายทินวัฒน์ จิรวัฒน์สกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 คนปัจจุบัน และมีองค์การบริหารส่วนตำบลตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 6 ผู้ใหญ่บ้านและกำนั้นและองค์การบริหารส่วนตำบลปกครองดูแลประชาชนทั่วหมู่บ้าน(ข้อมูลประชากร ประจำปี 2554 ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่งขวาง )
5. การศึกษา ในเขตหมู่ที่ 6 บ้านปลักไม้ลายมีโรงเรียนระดับประถมศึกษาหนึ่งโรงตั้งอยู่ในพื้นที่วัด มีนักเรียน เฉลี่ยปีละ 320 คนโดยประมาณ
6. การศาสนา หมู่บ้านปลักไม้ลายมีวัด 1 วัด มีพระภิกษุอยู่ประจำประมาณ 25 รูปตลอด25ปีที่ผ่านมา มีที่พักแม่ชี สำหรับสตรีที่คิดอยากบวช
7. สาธารณสุข มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อยู่ในเขตบ้านปลักไม้ลาย 1 แห่งช่วยดูแลสุขภาพโดยมีการแพทย์ทางเลือกบริการด้วย ปัจจุบันประชาชนโดยทั่วไปมีความเป็นอยู่คล้ายคนเมืองมากขึ้นเพราะมีเครื่องอุปโภคบริโภคสมบูรณ์พอสมควรเพราะการเดินทางสะดวกขึ้นและอยู่ใกล้เมือง แต่ก็มีวิถีชนบทที่สงบอยู่มาก
ประวัติของชุมชนปลักไม้ลาย
ชุมชนปลักไม้ลาย ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งขวาง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เป็นชุมชนหนึ่งในเขตภาคกลางซึ่งมีความเข้มแข็งและชาวบ้านมีการรวมตัวกันในการทำกิจกรรม ชื่อปลักไม้ลาย ชื่อนี้มาจากคำว่า ปลัก ที่หมายถึงแอ่งน้ำที่เป็นโคลนเลน เช่น ปลักควาย ซึ่งเป็นแอ่งน้ำที่มีโคลนเลนสำหรับควายนอนแช่น้ำ รวมกับคำว่า ไม้ลาย เป็นชื่อของต้นไม้จำพวกปอชนิดหนึ่งมีเปลือกต้นมีลายขาวเป็นดอกดวงใหญ่บ้างเล็กบ้าง เพราะบริเวณปลักน้ำนั้นมีต้นไม้ลายขึ้นอยู่ ชาวบ้านที่เดินทางผ่านไปมาบริเวณนี้จึงใช้เป็นชื่อเรียกขานกันสืบมา ครั้นชาวบ้านที่เข้ามาอยู่ในบริเวณนี้ก็พลอยเรียกและถูกเรียกชื่อที่อยู่ของตนตามชื่อปลักน้ำแห่งนี้ คุณยาย จอ จันทร์อ่อน เล่าให้ผู้วิจัยฟัง(คำบอกเล่าเมื่อครั้งผู้วิจัยเข้ามาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. 2525 ) ว่า หลวงปู่ พูน เกสโร เจ้าอาวาสวัดใหม่ปิ่นเกลียว(เดิมชื่อ วัดใหม่มุสิการาม) ซึ่งมีรู้จักคุ้นเคยกันเดินทางมาเยี่ยม หลวงปู่ชวนให้สร้างวัดไว้เพื่อจะได้ทำบุญใกล้ๆ จึงมีการคิดกันว่าจะก่อสร้างวัดตามคำชักชวนของหลวงปู่ฯ ครั้งนั้นเป็นปี พ.ศ. 2480 และขออนุญาตตั้งวัดจากกรมศาสนาเมื่อ พ.ศ. 2483 ครั้งนั้นกรมศาสนาก็ให้ใช้ชื่อปลักไม้ลาย เป็นชื่อของวัดที่ตั้งขึ้นนั้นซึ่งใช้ชื่อนั้นสืบมาจนปัจจุบัน ประมวลเรื่องเล่าจาก ขันธ์ ศรีโชติ, เง สวนแก้ว, เพชร สมวงษ์, ชม สวงน้อย , สงัด สวงน้อย, จอ จันทร์อ่อน, เอ่ง จันทร์อ่อน, บุญเลี้ยง จันทร์อ่อน และ อีกหลายคนที่เล่าให้พระครูสุธรรมนาถฟังเมื่อครั้งเข้ามาเป็นเจ้าอาวาสใหม่ๆสรุปใจความได้ว่า ในอดีต ปลักไม้ลายเป็นแหล่งที่ชาวบ้านใช้เป็นสถานที่พักระหว่างการเดินทาง คือ ชาวบ้านใช้บริเวณปลักไม้ลายเป็นสถานที่พักเหนื่อยและหยุดขบวนเกวียนเวลากลางวัน เพื่อให้วัวควายได้พักระหว่างทาง เพราะหมู่บ้านตั้งอยู่ระหว่างตัวจังหวัดนครปฐมกับหมู่บ้านอื่นๆ เช่น ศาลาตึก ห้วยกระบอก หนองโพธิ์ กำแพงแสน บ้านยาง (ที่ตั้งอำเภอกำแพงแสนในปัจจุบัน) เป็นต้น ชาวบ้านที่เดินทางเพื่อไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์หรือไปค้าขายฯมักแวะที่ปลักไม้ลาย หรือถ้าเดินทางจากแถบเมืองนครปฐมเพื่อไปนมัสการพระแท่นดงรัง มักแวะพักกลางวันระหว่างทางที่ปลักไม้ลาย และเดินทางต่อไปพักกลางคืนที่ศาลาตึก กล่าวได้ว่า ปลักไม้ลาย เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกมาแต่ดั้งเดิมสืบมาจนถึงปัจจุบัน
ชุมชนปลักไม้ลาย
ชุมชนปลักไม้ลาย เริ่มก่อตั้งขึ้นเป็นชุมชนพร้อมๆกับการทยอยย้ายเข้ามาอยู่อาศัยของกลุ่มคนชาวจีนที่เข้ามาอยู่ก่อนหน้า ด้วยพื้นที่แถบนี้อยู่ในอิทธิพลของกิมเลี้ยง วังตาลซึ่งมีความดีความชอบจากการรับอาสางานตั้งค่ายซ้อมรบของเสือป่าในพระมหาธีรราชเจ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ให้เสร็จทันเวลาที่ทรงมีพระราชประสงค์ได้ จึงได้รับการแต่งตั้งยศเป็น หลวงสิทธิ์เทพการ โดยที่หลวงสิทธิ์เทพการ นี้เป็นคนเชื้อจีนทำให้ชาวจีนได้รับการเกื้อหนุนพอควร และมีส่วนที่ทำให้คนในชุมชนปลักไม้ลายส่วนใหญ่เป็นชาวจีน จากบทสัมภาษณ์ นางบุญเลี้ยง จันทร์อ่อน ของคีรีบูนและคณะ (10 ธ.ค. 2542) รายงานไว้ว่า “นางบุญเลี้ยง จันทร์อ่อน เป็นผู้อาวุโสในหมู่บ้าน อายุ 83 ปี เป็นผู้ที่คนในหมู่บ้านให้ความเคารพนับถือ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของหมู่บ้านว่า ชาวบ้านรุ่นแรกของหมู่บ้านเป็นชาวจีนอพยพมาจากตัวจังหวัดนครปฐมเพื่อจับจองที่ดินทำกิน ปลูกพืชผักต่างๆ” ยังมีชาวจีนโพ้นทะเลอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอพยพมาจากมณฑลซัวเถา ประเทศจีน ก่อนตั้งเป็นชุมชนพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดอนทรายไม่มีใครมาจับจองจึงเป็นป่ารก ชาวจีนจึงได้มาหักล้างถางป่าเพื่อปลูกผัก ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านมากกว่าครึ่งของชุมชนมีเชื้อสายจีน และมีร้านค้าสำคัญที่ช่วยให้เป็นสังคมเล็กขึ้นก่อน คือ ร้านป้าเลี้ยง จากคำบอกเล่าของ เอ่ง จันทร์อ่อนอดีตเจ้าอาวาสรูปแรกเล่าให้ผู้เขียน(พระครูสุธรรมนาถ)ฟังว่า ยายจอ ไปบอกป้าเลี้ยง(บุญเลี้ยง จันทร์อ่อน) ผู้เป็นลูกสาวซึ่งแต่งงานออกไปอยู่กับสามีที่ห้วยกระบอก ลำบากอยู่มากให้กลับมาอยู่บ้าน โดยให้ตั้งร้านค้าเล็กๆข้างบ้านแม่(ยายจอฯ)จะได้มีรายได้เลี้ยงลูกๆ และเป็นเพื่อนแม่รวมทั้งจะได้อุปถัมภ์พระน้องชายที่เป็นเจ้าอาวาสวัดปลักไม้ลายด้วย ซึ่งต่อมาร้านค้าได้เป็นสภากาแฟของชาวจีนในชุมชน จากรายงานของคีรีบูนและคณะ มีเรื่องเล่าจากชาวบ้านที่ร้านกาแฟของนางบุญเลี้ยงซึ่งเป็นแหล่งนัดพบของชาวบ้าน เรื่องเล่าความว่า ชาวจีนกลุ่มแรกๆ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ปลักไม้ลาย เช่น แป๊ะสุ่น และแป๊ะฮุ้ง เข้ามาที่ปลักไม้ลายในช่วงแรกๆ ขณะนั้นในหมู่บ้านฯมี หมาป่า หมูป่า เม่น ชุกชุม พี้นที่ทำกินราคาไร่ละประมาณ 50 บาท ถ้าหากเช่าทำกินก็เสียค่าเช่าประมาณปีละ 10 บาทต่อไร่ ชาวจีนที่มาทำมาหากินที่ปลักไม้ลาย จะนิยมปลูกผัก พริก มะเขือ ขิง แล้วเก็บผลผลิตใส่ตะกร้าซ้อนท้ายจักรยานไปขายที่ตัวจังหวัดนครปฐม แป๊ะสุ่นเล่าให้ฟังว่าต้องขี่จักรยานออกจากหมู่บ้านไปขึ้นถนนมาลัยแมนตั้งแต่เช้ามืด เพื่อไปขายผักที่ตลาดนครปฐม พอขายผักเสร็จในตอนสายๆ ก็ขี่จักรยานกลับหมู่บ้าน ปัจจุบันส่วนหนึ่ง มีการซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลาง อีกส่วนหนึ่งปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อขายให้แก่บริษัทผ่านกลุ่มผู้ค้าในชุมชน จากรายงานการสัมภาษณ์นายทินวัฒน์ ถิรวัฒน์สกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 บ้านหนองไข่กา (คีรีบูนและคณะ สัมภาษณ์, 20 ธ.ค. 2542) เดิมชาวบ้านที่ถือว่าตัวเขาเป็นชาวปลักไม้ลาย เมื่อมีการแบ่งเขตการปกครองตามกระทรวงมหาดไทยปัจจุบัน ทำให้ต้องแบ่งพื้นที่ใหม่ แต่ชาวบ้านมิได้แบ่งแยกวัฒนธรรมตามการแบ่งพื้นที่ตามแบบราชการ ก็ยังถือว่าตัวเขาเป็นชาวปลักไม้ลายอยู่
วัดปลักไม้ลาย
วัดปลักไม้ลาย ก่อตั้งในระยะเดียวกับที่เริ่มมีการก่อตั้งชุมชน คือหลังจากที่ชาวบ้านกลุ่มแรกๆ มาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านประมาณ 2-3 ปี (คีรีบูนและคณะ สัมภาษณ์, นางบุญเลี้ยง จันทร์อ่อน 10 ธ.ค. 2543) เริ่มจากนางจอ (แม่ของนางบุญเลี้ยง จันทร์อ่อน) เป็นผู้ชักชวนชาวบ้านช่วยกันสร้างวัด โดยนางจอบริจาคที่ดินจำนวน 30 ไร่ และผู้ใหญ่งี้ เนตรจรัสแสง บริจาคที่จำนวน 15 ไร่ เพื่อสร้างวัด ชาวบ้านไปนิมนต์พระภิกษุจากตัวเมืองมาเป็นเจ้าอาวาส แต่ไม่มีพระภิกษุรูปใดมาเพราะเป็นที่ป่าและอัตคัตขัดสนไปแทบทุกอย่าง ในที่สุดได้ บวชพระเอ่ง (ลูกชายของนางจอ และเป็นน้องชายของนางบุญเลี้ยง) เพื่อให้เป็นเจ้าอาวาสและท่านได้สร้างศาลาหลังคาแฝก โบสถ์ กุฏิ รวมทั้งริเริ่มสร้าง ร.ร.เพื่อเป็นที่เรียนของลูกหลานชาวบ้าน โดยใช้ศาลาเป็นอาคารเรียนชั่วคราว(โรงเรียนวัดปลักไม้ลายเริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2481 โดยความร่วมมือของราษฎรในหมู่บ้านปลักไม้ลายและใกล้เคียงได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์ ปลูกอาคารเรียนชั่วคราวขึ้น ณ วัดปลักไม้ลาย โดยใช้ไม้เบญจพรรณ หลังคามุงแฝกจุนักเรียนได้ 50 คน และได้ร้องขอต่อนายอำเภอกำแพงแสน ขณะนั้น เพื่อเปิดทำการสอนต่อไป ในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 นายพิพัฒน์ งามจิต นายอำเภอกำแพงแสน นายรัศมี เรติกุล ศึกษาธิการอำเภอสมัยนั้น ได้มาทำพิธีเปิดป้ายอาคารเรียนและใช้เรียนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยใช้ชื่อว่า”โรงเรียนวัดปลักไม้ลาย”ข้อมูล จากร.ร. วัดปลักไม้ลาย) ช่วงนั้นชาวบ้านถวายที่ดินให้เป็นของวัดบ้าง บางพื้นที่ชาวบ้านก็ร่วมกันซื้อบริจาค จนวัดมีที่ดินทั้งในและนอกวัดมากกว่า 100ไร่ ท่านเป็นเจ้าอาวาสที่วัดปลักไม้ลายอยู่ 11 ปี และเป็นผู้ชอบเชิงอนุรักษ์มีความสามารถทางแพทย์แผนไทยอยู่มาก เสาะหาสมุนไพรมาปลูกในวัดอยู่ด้วยเช่นกัน หลังจากท่านลาสิกขามา มีเจ้าอาวาสต่อมาอีก 3 รูปแต่ละรูปต้องการสร้างวัดให้เป็นวัดแบบในเมืองซึ่งเป็นเหตุให้ขัดใจกับอดีตเจ้าอาวาสตลอดมา ผู้เขียน(พระครูสุธรรมนาถ)ซึ่งมีความชอบในการปฏิบัติธรรม ชอบอยู่ป่าและสมุนไพรอยู่แล้วเมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 5 จึงเหมือนมาอยู่เพื่อช่วยรักษาป่าสมุนไพรไว้ด้วย จนกระทั่ง รัตนะ บัวสนธ์ (2535 : 140 - 143) มาทำการวิจัย และกล่าวถึงความเป็นมาของวัดปลักไม้ลายกับสมุนไพรไว้สังคมได้รับรู้อีกทางหนึ่ง
พื้นที่
หมู่บ้านปลักไม้ลาย ในปัจจุบันเฉพาะพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านปลักไม้ลาย มีพื้นที่ประมาณ 1,004 ไร่ (ข้อมูล กชช.2ค, ปี พ.ศ. 2541) แต่ถ้าพิจารณาการแบ่งเขตตามมิติของสังคม วัฒนธรรมตามที่ชาวบ้านตระหนักว่าตนเองเป็นชาวบ้านปลักไม้ลาย จะทำให้พื้นที่ชุมชนปลักไม้ลายมีอาณาเขตกว้างขึ้น พื้นที่ในปัจจุบันมีจำนวนน้อยลงจากเดิม เนื่องจากการแบ่งเขตของกระทรวงมหาดไทย มีการแบ่งพื้นที่เดิมของหมู่ที่ 6 เป็นหมู่อื่นๆ โดยในปลายปี พ.ศ. 2538 - ต้นปี พ.ศ. 2539 มีการแบ่งพื้นที่จัดตั้งเป็นหมู่บ้านคือ หมู่ที่ 9 บ้านสี่แยกดอนขุนวิเศษ ปลายปี พ.ศ.2539 มีการตั้งหมู่บ้านหมู่ที่ 10 บ้านหนองไข่กาขึ้น อาณาเขตของหมู่ที่ 6 บ้านปลักไม้ลายในปัจจุบันติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียง ดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 7 บ้านบ่อน้ำพุ ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลหนองงูเหลือม ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านหลักเมตร และ หมู่ที่ 10 บ้านหนองไข่กา ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลห้วยหมอนทอง และ หมู่ที่ 9 บ้านสี่แยกดอนขุนวิเศษ
พื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านเป็นพื้นที่เกษตร 870 ไร่ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ดอนดินร่วนปนทราย ใช้ในการปลูกอ้อย ประมาณ 600ไร่ ปลูกหน่อไม้ฝรั่งประมาณ 100 ไร่ นอกจากนั้นเป็นพื้นที่ใช้สำหรับการอยู่อาศัย ปลูกผลไม้ และปลูกผักสวนครัว ส่วนพื้นที่ของวัดปลักไม้ลายประมาณ 92 ไร่ เป็นป่าสมุนไพรดั้งเดิมประมาณ 70 ไร่ พื้นที่ปลักไม้ลาย
ความเป็นอยู่ของชุมชน
จากการสัมภาษณ์ นายทินวัฒน์ ถิรวัฒน์กุล(สัมภาษณ์, 18 ม.ค. 2543) ของคีรีบูนและคณะ ได้รายงานผลการสัมภาษณ์ไว้ใจความว่า ชาวบ้านในชุมชนปลักไม้ลายส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในอดีตจะมีประเพณีลงแขกช่วยเหลือกันออกไร่ ต่อมามีชาวอีสานมารับจ้างตัดอ้อย การลงแขกก็ค่อยๆ หายไป เปลี่ยนมาเป็นการจ้างงานแทน สังคมหมู่บ้านเปลี่ยนไปมากจากการที่เคยช่วยเหลือโดยไม่หวังค่าตอบแทน เป็นการจ้างงานกัน ปัจจุบัน มีการปลูกหน่อไม้ฝรั่งยิ่งมีงานมากขึ้น ไม่มีเวลาว่างตลอดทั้งปี แต่วันสำคัญก็จะไปทำบุญที่วัด ปัจจุบันชุมชนปลักไม้ลายมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากขึ้น การพัฒนาทางด้านวัตถุอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีถนนลาดยาง มีรถเมล์ขาววิ่งเข้าหมู่บ้านที่แยก ก.ม. 13 มีคลองชลประทาน สถานที่ก่อสร้างสำคัญๆ เช่น อบต. สถานีอนามัย หน่วยงานราชการ
|