ทองบ้าน
  ชื่อสามัญภาษาไทยทองบ้าน
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษIndian Coral tree
  ชื่อวิทยาศาสตร์Erythrina variegata L.
  ชื่อพ้องErythrina orientalis (L.) Merr.
  ชื่อวงศ์Fabaceae
  ชื่อท้องถิ่นทองหลางลาย, ทองหลางด่าง, ทองหลางใบมนด่าง, ทองหลางดอกแดง, ทองเผือก (ไทย), ชื่อถง ไห่ถงผี (จีนกลาง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นทองบ้าน เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงได้ประมาณ 18-20 เมตร ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมโค้งและคม ปลายหนามเป็นสีม่วงคล้ำ เปลือกลำต้นบางเป็นสีเทา สีเทาอมน้ำตาล หรือเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ เนื้อไม้เปราะ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำกิ่ง เป็นพรรณไม้ที่ปลูกขึ้นง่าย เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด 

ใบทองบ้าน ใบเป็นใบประกอบเรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปสามเหลี่ยมมน ปลายใบแหลมยาวคล้ายใบโพธิ์ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ใบยอดที่อยู่ปลายสุดจะมีขนาดใหญ่กว่าใบคู่ล่าง หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบมีสีเขียวอ่อนมีแถบสีเหลืองตามแนวเส้นใบ เส้นใบมี 3 เส้น มีขนปกคลุมเล็กน้อย ก้านใบสั้น ก้านช่อใบยาวประมาณ 3-4 นิ้ว 

ดอกทองบ้าน ออกดอกเป็นช่อติดกันเป็นกลุ่ม ๆ บริเวณข้อต้น โคนก้านใบ หรือที่ยอดต้น ก้านช่อดอกยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร มีขนปกคลุมเล็กน้อย ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ดอกเป็นสีแดงสด ดอกมีลักษณะคล้ายดอกถั่ว กลีบดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มักจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 

ผลทองบ้าน ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ออกเป็นพวง ๆ โคนฝักเล็กลีบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายฝักจะบวม เห็นเป็นสันของเมล็ดได้ชัดมาก เมื่อฝักแก่เต็มที่ปลายฝักจะแตกอ้าออก ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-8 เมล็ด มีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร รูปกลม และเป็นสีแดงเข้ม

สรรพคุณทั่วไป

  • เปลือกต้นมีรสเฝื่อน ขม เผ็ด เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับและม้าม ใช้เป็นยาขับลมชื้น ทะลวงเส้นลมปราณ 
  • เปลือกรากมีสรรพคุณช่วยทำให้ความดันโลหิตในเส้นเลือดแดงเพิ่มขึ้น 
  • เมล็ดนำมาตำให้ละเอียดเป็นผงหรือนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยารักษามะเร็ง 
  • ใบใช้เป็นยากระตุ้นให้อยากอาหาร ใช้เป็นยานอนหลับได้ดี 
  • ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 20-40 กรัม (ถ้าแห้งให้ใช้เพียง 10-15 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะใช้เปลือกต้นสดนำมาต้มเอาน้ำกินก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้เช่นกัน

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • เปลือกรากมีสรรพคุณช่วยทำให้ความดันโลหิตในเส้นเลือดแดงเพิ่มขึ้น เปลือกแห้งให้ใช้ครั้งละ 8-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือดองกับเหล้ากิน 
  • ส่วนการนำมาใช้ภายนอกให้นำมาต้มเอาน้ำล้างแผลหรือบดให้เป็นผงใช้โรยบริเวณที่เป็นแผล

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ทองบ้าน”. หน้า 364-366. 2.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ทองบ้าน”. หน้า 256.