หญ้าปักกิ่ง
  ชื่อสามัญภาษาไทยหญ้าปักกิ่ง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษBeijing Grass
  ชื่อที่เกี่ยวข้องหญ้าเทวดา
  ชื่อวิทยาศาสตร์Murdannia loriformis (Hassk.) Rao et Kammathy.
  ชื่อวงศ์Commelinaceae
  ชื่อท้องถิ่นเล่งจือเช่า
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นหญ้าปักกิ่ง มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ แถบสิบสองปันนา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก จำพวกหญ้าที่มีอายุหลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีเหง้า แต่ไม่มีลำต้นหลักหรือมีแต่สั้นมาก รากหนา มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร มีขนอยู่หนาแน่น ลำต้นที่มีช่อดอกจะยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร เกิดจากใบกระจุก เลื้อยเกาะ ปล้องยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร และมีขนสั้นนุ่ม พืชชนิดนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินปนทรายและต้องการแสงแดดแบบรำไร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและการใช้เมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน ลาว และเวียดนาม โดยมักขึ้นตามดินทรายริมลำธาร ส่วนในประเทศไทยสามารถพบหญ้าปักกิ่งได้ทางภาคเหนือ และพื้นที่อื่น ๆ บ้างประปราย

ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับเป็นชั้น และออกเป็นกระจุกใกล้ราก ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานคล้ายใบไผ่เขียว ขอบใบและกาบใบเป็นขนครุย แผ่นใบหนาเป็นสีเขียวอมเหลือง ผิวใบเรียบเกลี้ยงหรือมีขนละเอียดด้านล่าง ใบที่โคนต้นจะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ส่วนใบส่วนบนจะสั้นกว่าใบที่โคนต้น

ดอกหญ้าปักกิ่ง ออกดอกรวมกันเป็นช่อเล็ก ๆ โดยจะออกที่ปลายยอด มีประมาณ 1-5 ช่อ ออกรวมกันเป็นกระจุกแน่น (เป็นช่อแยกแขนงแน่น) ก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีวงใบประดับคล้ายใบ แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ลักษณะของใบประดับค่อนข้างกลมซ้อนกัน เป็นสีเขียวอ่อนบางใสหรือโปร่งแสง มีขนาดประมาณ 4-7 มิลลิเมตร ติดทน เมื่อแห้งจะร่วง ก้านดอกสั้นโค้งเล็กน้อย ยาวได้ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมี 3 กลีบ เป็นสีน้ำเงิน สีฟ้า สีม่วงอ่อน สีม่วงน้ำเงิน หรือสีบานเย็น หลุดร่วงได้ง่าย ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับเกือบกลม ดอกมีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 2 อัน มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3-4 อัน ก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนเกสรเพศเมียยาวได้ประมาณ 3 มิลลิเมตร

ผลหญ้าปักกิ่ง ที่ปลายต้นมีผล ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ผลเป็นแคปซูลรูปสามเหลี่ยมรี ๆ กว้าง ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร แตกออกเป็นช่อง 3 ช่อง ในแต่ละช่อจะมีเมล็ด 2 เมล็ด ผิวสีน้ำตาลอมเหลืองมีริ้วเป็นร่างแห


สรรพคุณทั่วไป

  • ใบ รับประทานกับลาบช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน 
  • ใบและต้น รสจืดเย็น ต้มดื่ม แก้เจ็บคอ รักษามะเร็งในเม็ดโลหิต มะเร็งในที่ต่างๆ ในลำคอ ในตับ ผิวหนัง เม็ดเลือด ในมดลูกและลำไส้ โดยนำหญ้าปักกิ่ง 6 ต้น ล้างน้ำให้สะอาด ปั่นหรือตำให้แหลก เติมน้ำ 4 ช้อนโต๊ะ คั้นเอาแต่น้ำ แบ่งครึ่ง ดื่ม 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าครึ่งชั่วโมงและก่อนนอน
  • ตำรายาจีน  ใช้ รักษาอาการเจ็บคอ และมะเร็ง โรคในระบบทางเดินหายใจ กำจัดพิษ

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • น้ำคั้นหญ้าปักกิ่ง : แนะนำทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ (30 มิลิลิตร) วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า เย็น (เด็กควรลดขนาดลงครึ่งหนึ่ง) รับประทานติดต่อกัน 4 วัน หยุดยา 3 วัน (เพื่อป้องกันกร่างกายเย็นจากยาและดูแลระบบไหลเวียนเลือด) 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. Eherb.hrdi.or.th. หญ้าปักกิ่ง. เชียงใหม่
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง: [เข้าถึงเมื่อ 5 ม.ค. 2560] เข้าถึงได้จาก: http://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID=988&name=หญ้าปักกิ่ง%20&txtSearch=&sltSearch=
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หญ้าปักกิ่ง”.  หน้า 146.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หญ้าปักกิ่ง”.  หน้า 590. 
  5. ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  (รองศาสตราจารย์ ดร. วีณา จิรัจฉริยากูล).  “หญ้าปักกิ่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [08 ก.ค. 2014]. 
  6. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “หญ้าปักกิ่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [08 ก.ค. 2014]. 
  7. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “หญ้าปักกิ่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [08 ก.ค. 2014]. 
  8. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  “หญ้าเทวดา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: drug.pharmacy.psu.ac.th.  [08 ก.ค. 2014]. 
  9. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  (ภญ.ดร.จุไรทิพย์ หวังสินทวีกุล).  “หญ้าปักกิ่งเป็นหญ้าเทวดาดั่งชื่อจริงหรือ?”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: pcog.pharmacy.psu.ac.th.  [08 ก.ค. 2014]. 
  10. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “หญ้าปักกิ่ง”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [08 ก.ค. 2014]. 
  11. มุมสมุนไพร, ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดลำพูน.  “หญ้าปักกิ่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.haec05.doae.go.th.  [08 ก.ค. 2014]. 
  12. กระปุกดอทคอม.  “ฟ้าทะลายโจร ยอ หญ้าปักกิ่ง สมุนไพรต้านอนุมูลอิสระ”.  อ้างอิงใน: เว็บไซต์หมอชาวบ้าน.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: health.kapook.com.  [08 ก.ค. 2014]. 
  13. สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย.  “หญ้าปักกิ่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: tgcsthai.com.  [08 ก.ค. 2014].
  14. ฐานข้อมูลสมุนไพร จ.อุตรดิตถ์.  “หญ้าปักกิ่ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: industrial.uru.ac.th.  [08 ก.ค. 2014].