หว้า
  ชื่อสามัญภาษาไทยหว้า
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษJambolan plum, Java plum, Jambul
  ชื่อวิทยาศาสตร์Syzygium cumini (L.) Skeels
  ชื่อพ้องCaryophyllus jambos Stokes, Eugenia cumini (L.) Druce
  ชื่อวงศ์Myrtaceae
  ชื่อท้องถิ่นหว้า หว้าป่า หว้าขาว หว้าขี้นก หว้าขี้แพะ แต่สำหรับชาวฮินดูจะเรียกลูกหว้านี้ว่า “จามาน” หรือ “จามูน”
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

หว้าเป็นไม้ต้น เนื้อแข็ง ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ อาจสูงได้ถึง 30 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดโปร่ง เปลือกนอกสีเทาปนน้ำตาล ขรุขระ หรือแตกเป็นสะเก็ดเล็กน้อย เปลือกในสีน้ำตาลแดง 

ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 4 – 7 เซนติเมตร ยาว 9 – 14 เซนติเมตร โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลมเรียว แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่า ผิวเกลี้ยงเส้นกลางใบนูนเห็นชัด เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน มีจุดน้ำมันบริเวณขอบใบ 

ดอก ช่อแยกแขนง ออกตามกิ่ง ดอกสีขาว หรือสีเหลืองอ่อน ฐานรองดอกรูปถ้วย ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก โดยจะมีเยื่อหุ้มบางๆ หุ้มดอกยังตูมไว้ เมื่อดอกเจริญเต็มที่ เยื่อบางๆ นี้จะหลุดไป เกสรเพศผู้จำนวนมากติดอยู่รอบขอบของฐานรองดอก เกสรเพศเมีย 1 อันฝังอยู่ตรงกลาง 

ผลมีเนื้อเมล็ดเดียว รูปไข่ กว้าง 1 – 1.5 เซนติเมตร ยาว 1.5 – 2 เซนติเมตร เนื้อนุ่ม เมื่อสุกมีสีม่วงแดงถึงดำ


สรรพคุณทั่วไป

  • ลูกหว้าอุดมไปด้วยธาตุเหล็กซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงกระดูกและฟัน 
  • ผลดิบช่วยแก้อาการท้องเสียได้ 
  • ผลสุกรับประทานแก้อาการท้องร่วงและอาการบิด 
  • ใช้รักษาอาการบิด มูกเลือด ท้องเสีย 
  • นำมาใช้ทำเป็นยาอม ยากวาดคอ แก้ปากเปื่อย แก้คอเปื่อย เป็นเม็ดตามลิ้นและคอ 
  • แก้อาการน้ำลายเหนียวข้น 
  • ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้ใบและเมล็ดหว้านำมาต้มหรือบดให้ละเอียด แล้วนำมารับประทานเพื่อรักษาอาการของโรคเบาหวานได้ เนื่องจากมีสารชนิดหนึ่งที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ 
  • ลูกหว้ามีสรรพคุณช่วยชะลอความแก่และความเสื่อมของเซลล์ได้ 
  • ช่วยบรรเทาอาการของวัณโรคและโรคปอดได้ ด้วยการนำผลหว้าไปตากแห้งแล้วนำมาบดให้ละเอียด รับประทานเป็นประจำจะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น 
  • ช่วยรักษาโรคหอบหืดที่เกิดจากการแพ้อากาศ ด้วยการนำผลหว้าสดมาต้มกับน้ำแล้วดื่มเพื่อบรรเทาอาการ

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  เมล็ดต้มหรือบด กินแก้โรคเบาหวาน
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
  2. เว็บไซต์สมุนไพรดอทคอม