มะเขือเปราะ
  ชื่อสามัญภาษาไทยมะเขือเปราะ
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษThai Eggplant
  ชื่อวิทยาศาสตร์Solanum virginianum Linn.
  ชื่อพ้องSolanum xanthocarpum Schrad. & H. Wendl.
  ชื่อวงศ์Solanaceae
  ชื่อท้องถิ่นมะเขือเสวย (ภาคกลาง), มะเขือผ่อย, มะเขือคางกบ, มะเขือจาน, มะเขือเดือนแจ้ง มะเขือขันคำ (ภาคเหนือ), มะเขือหืน, มะเขือเผาะ (ภาคอีสาน), เขือหิน (ภาคใต้), มังคอเก่ (กะเหรี่ยง) หมากเขือขอบ (ไทยใหญ่) , หวงซุ่ยเซี่ย , หวงกั่วเซี่ย (จีน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะเขือเปราะ เป็นพืชล้มลุก ทรงพุ่มขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สีเขียว ผิวเรียบ ไม่มียาง มีรากเป็นรากแก้ว ทรงกลม สีน้ำตาล แทงลงดิน 

ส่วนใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียว ทรงหัวลูกศร ปลายแหลม โคนโค้งมนคล้ายติ่งหู กว้างประมาณ 4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13 เซนติเมตร 

มีดอกออกตามซอกใบ สีม่วงบ้าง สีขาวบ้าง โดยกลีบดอกจะเชื่อมติดกัน แต่ปลายดอกจะแยกออกเป็น 5 แฉก รูปกงล้อ ไม่มีกลิ่น 

ส่วนผลของมะเขือเปราะจะมีลักษณะกลม ผลเรียบ เนื้อแน่นกรอบฉ่ำน้ำ โดยผลอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน หรือบางพันธุ์อาจมีสีขาว สีเหลือง สีม่วง ผลแก่จะมีสีเหลือง เนื้อในผลมีลักษณะเป็นเมือก และมีเมล็ดสีเขียวข้างในกว่า 60 เมล็ด จะนำมาทานสด ๆ หรือนำไปปรุงสุกก็อร่อยเหมือนกัน

สรรพคุณทั่วไป

  • ผล : ผลมะเขือเปราะ ช่วยลดไข้ ลดการอักเสบ ลดความดันเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ กระตุ้นการเผาผลาญ กระตุ้นการขับถ่าย ช่วยขับพยาธิ รักษาเบาหวาน ต้านมะเร็ง และช่วยบำรุงหัวใจได้ 
  • ใบ : นำมาขยำแล้วพอกบริเวณแผล จะช่วยห้ามเลือด และรักษาแผลให้หายไวขึ้น และหากนำใบสดมาเคี้ยว จะช่วยบรรเทาอาการเหงือกอักเสบได้ นอกจากนี้ การนำใบมะเขือเปราะมาต้มแล้วดื่ม ยังช่วยแก้อาการร้อนใน และช่วยขับปัสสาวะได้ดี แถมยังนำมาต้มอาบ แก้บรรเทาอาการคันตามผิวหนังได้ด้วย 
  • ราก : นำรากมะเขือเปราะมาต้มดื่มช่วยขับปัสสาวะ บรรเทาอาการไอ แก้อาการอักเสบในลำคอ และแก้โรคหอบหืดได้ หรือหากนำมาเคี้ยว ยังช่วยบรรเทาอาการเหงือกบวม เหงือกอักเสบ และลดอาการปวดฟันได้อีกด้วย

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ใช้ลดไข้ ขับลม บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิต ขับพยาธิ โดยการใช้ผลแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม 
  • หรือใช้ผลสดประกอบอาหารรับประทานหรือใช้เป็นเครื่องเคียงน้ำพริกหรือส้มตำรับประทาน เป็นอาหารในแต่ละมื้อก็ได้ 
  • ใช้ขับปัสสาวะ บรรเทาอาการไอ แก้อาการคันคอ ลดอาการอักเสบในลำคอ แก้หอบหืด โดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่มใช้
  • แก้อาการเหงือกบวมเหงือกอักเสบ ปวดฟัน โดยใช้รากสด 15 กรัม ต้มกับน้ำใช้บ้วนปากหรือเคี้ยวสดๆก็ได้ 
  • ใช้แก้อาการร้อนใน ขับปัสสาวะ โดยใช้ใบสดนำมาต้มน้ำดื่ม หรือใช้ใบสดต้มกับน้ำอาบแก้ผดผื่นคันก็ได้ 
  • นอกจากนี้ใบสดยังสามารถนำมาตำหรือขยำแล้วใช้พอกประคบบริเวณแผลก็จะช่วยห้ามเลือดและรักษาแผลได้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. ทวีทอง หงส์วิวัฒน์. (2547).สารานุกรมผัก.พิมพ์ครั้งที่2.กรุงเทพฯ:แสงแดด 
  2. รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.มะเขือเปราะลดน้ำตาลในเลือด.คอลัมน์บทความพิเศษ.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 351.กรกฎาคม.2551. 
  3. วิทยา บุญวรพัฒน์.มะเขือขื่น.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย.จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.หน้า430. 
  4. ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557. กรุงเทพฯ: ส่านักงานหอพรรณไม้ ส่านักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. http://puechkaset.com/มะเขือเปราะ/ 
  5. รัตนา พรหมพิชัย. (2542).เขือ ข่า ใบ สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 2,หน้า 866.) กรุงเทพฯ:มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. 
  6. มะเขือเปราะ (Thai Eggplant) สรรพคุณและการปลูกมะเขือเปราะ.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com