หูปลาช่อนลาว
  ชื่อสามัญภาษาไทยหูปลาช่อนลาว
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษCupid’s shaving brush, Emilia, Sow thistle
  ชื่อวิทยาศาสตร์Emilia sonchifolia (L.) DC. ex DC.
  ชื่อพ้องCacalia sonchifolia Hort ex L.
  ชื่อวงศ์Asteraceae
  ชื่อท้องถิ่นผักบั้ง (ลำปาง), ผักแดง (เลย), หางปลาช่อน (เพชรบุรี, ภาคกลาง) เอี่ยโต่ยเช่า เฮียะแอ่อั้ง (จีนแต้จิ๋ว), หยางถีฉ่าว หยางถีเฉ่า เยวียะเสี้ยหง อีเตี่ยนหง (จีนกลาง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นหูปลาช่อน จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า มีลำต้นตั้งตรง มีมีสีเขียวแกมม่วง ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 10-50 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านที่โคนต้น ลำต้นปกคลุมไปด้วยขนนุ่มทั่วไป ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้วัชพืชที่มักขึ้นตามที่ชื้น ทุ่งหญ้าโล่ง หรือขึ้นปะปนกับวัชพืชทั่วไป พบได้ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย และจัดเป็นวัชพืชที่มีการกระจายพันธุ์ได้รวดเร็ว 

ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบมีลักษณะห่อหุ้มลำต้นอยู่ ปลายใบแหลมเรียว โคนใบกว้างเป็นรูปไข่ ส่วนขอบใบโค้งหยักเล็กน้อยหรือหยักเว้า มีขนาดยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีม่วงแดง ใบที่โคนต้นจะมีขนาดใหญ่กว่าใบที่อยู่บนยอด ใบบนเป็นรูปหอกโคนเว้าขอบจักแคบ ไม่มีก้านใบ ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามบริเวณกลางลำต้นหรือยอดต้น ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร และก้านดอกมักแบ่งออกเป็น 2 แขนง (ช่อหนึ่งจะแยกออกเป็น 2 แขนง) มีดอกย่อยประมาณ 20-45 

ดอก ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ลักษณะของดอกเป็นดอกขนาดเล็ก ยาวประมาณ 12-14 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอก กลีบดอกส่วนโคนจะเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ ดอกเป็นสีแดงม่วงมี 5 แฉก มีเกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน 

ผลเป็นผลเดี่ยว ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอกยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร เปลือกผลแข็งมีจรสีขาวปกคลุมที่เส้นสันผิวเปลือก ผลแห้งจะไม่แตกหรืออ้าออก เมล็ดล่อน สีน้ำตาล และมีขน

สรรพคุณทั่วไป

  • ทั้งต้นมีรสขมฝาด เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดตับและลำไส้เล็ก ใช้เป็นยารักษาระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ 
  • รากใช้เป็นยาแก้โรคตานซางขโมยในเด็ก ด้วยการใช้รากสดประมาณ 10 กรัม นำมานึ่งกับเนื้อหมูแดงให้เด็กกิน 
  • ทั้งต้นใช้เป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ เป็นยาแก้ไข้ ทำให้เลือดเย็น ช่วยขับน้ำชื้นในร่างกาย 
  • ช่วยแก้หืดไอ 
  • ช่วยแก้เลือดกำเดา อาเจียนเป็นเลือด
  • ช่วยแก้ตาเจ็บตาแดง น้ำคั้นจากใบใช้หยอดแก้เจ็บตา 
  • ช่วยขับเสมหะ 
  • ใช้แก้บิดถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด แก้ท้องร่วง ด้วยการใช้ลำต้นสดประมาณ 30-90 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มเอาน้ำกิน 
  • รากมีสรรพคุณช่วยแก้ท้องเสีย 
  • ช่วยขับปัสสาวะ 
  • ช่วยรักษาโรคเริม ด้วยการใช้ต้นสดนำมาพอกบริเวณที่เป็น และให้เปลี่ยนยาวันละครั้ง 
  • หากช่องคลอดอักเสบหรือคัน ให้ใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำสะอาดแล้วใช้ชะล้าง 
  • ช่วยลดและแกอาการบวมน้ำ 
  • ช่วยรักษาฝีในลำไส้ 
  • ใบนำมาขยี้ทารักษาหูด 
  • ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาห้ามเลือด และสมานแผล 
  • ทั้งต้นใช้ตำพอกแก้ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
  • รากมีรสเฝื่อนเย็น นำมาตำคั้นผสมกับน้ำตาลเมาใช้ดื่มแก้อาการปวดหลัง ปวดเอว

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ลำต้นนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้เจ็บคอ คอตีบ คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ด้วยการต้นสดใช้ 30-90 กรัม ส่วนแห้งใช้ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินวันละ 2-3 ครั้ง 
  • ช่วยแก้ฝีฝักบัว ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มกับน้ำกิน (ต้นสดใช้ 30-90 กรัม ส่วนแห้งใช้ 15-30 กรัม) 
  • ใช้แก้ผดผื่นคัน ฝีต่าง ๆ ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำนำมาพอกหรือทาบริเวณที่เป็น

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “หูปลาช่อน“.  หน้า 827-829.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หูปลาช่อน“.  หน้า 620.
  3. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “หูปลาช่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/.  [18 ก.ค. 2014].
  4. อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เครือข่ายกาญจนาภิเษก.  “หูปลาช่อน“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.kanchanapisek.or.th.  [18 ก.ค. 2014].
  5. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ฤทธิ์ระงับปวดของสารสกัดจากต้นหูปลาช่อน (Emilia sonchifolia)”.  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [18 ก.ค. 2014].
  6. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “หางปลาช่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [18 ก.ค. 2014].
  7. ไทยเกษตรศาสตร์.  “สมุนไพรหูปลาช่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com.  [18 ก.ค. 2014].