หมากเล็กหมากน้อย
  ชื่อสามัญภาษาไทยหมากเล็กหมากน้อย
  ชื่อที่เกี่ยวข้องต้นมั่งคั่ง
  ชื่อวิทยาศาสตร์Vitex quinata (Lour.) F.N.Williams
  ชื่อพ้องCornutia quinata Lour., Vitex altmannii Moldenke., Vitex celebica Koord., Vitex heterophylla Roxb.
  ชื่อวงศ์Lamiaceae
  ชื่อท้องถิ่นซาคาง (อุดรธานี), ตะพุนเฒ่า (ตราด), แปะ (นครราชสีมา,บุรีรัมย์), ผาเสี้ยนดอย (เชียงใหม่), มะคัง (เชียงใหม่, อุบลราชธานี), สะคางต้น (เลย), หมากเล็กหมากน้อย (ภาคกลาง, ประจวบคีรีขันธ์), หมากสะคั่ง (ภาคกลาง, เลย)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

หมากเล็กหมากน้อยเป็นไม้ต้นไม่ผลัดใบ สูงถึง 25 ม. เรือนยอด ค่อนข้างกลม โปร่ง แตกกิ่งก้านต่ำ ลำต้น เปลาตรง เปลือกนอกแตกเป็นร่องตื้นๆ สีน้ำตาล เปลือกในและกระพี้เหลือง 

ใบ ประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้ามสลับ ตั้งฉาก ใบย่อย 5 ใบ ใบตรงกลางมีขนาดใหญ่ ที่สุด ใบคู่ล่างชิดก้านใบร่วมมีขนาดเล็กที่สุด แผ่นใบรูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง 2.5-5.0 ซม. ยาว 5-22 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมน ขอบเรียบ ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 8-10 เส้น ก้านใบร่วม ยาว 3-13 ซม. 

ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ที่ปลาย กิ่ง ยาว 9-18 ซม. มีขนนุ่มสีน้ำตาลเหลือง หลอดกลีบเลี้ยง ยาว 2-3 มม. ปลายผายกว้าง แยกเป็นแฉกซี่ฟันตื้นๆ ผิวด้านนอกมีขน สีเขียว หลอดกลีบดอกยาว 6-8 มม. ปลายแยก 5 พู ขนาดไม่เท่ากัน ลักษณะเป็นรูป 2 ปาก สีครีมหรือเหลืองมีแต้มสีม่วง ผิวด้านนอก มีขน เกสรเพศผู้ 4 อัน ยื่นยาวเหนือวงกลีบ 

ผล สด เมล็ดเดียวแข็ง ค่อนข้างกลมถึง รูปไข่แกมรูปรี ขนาด 0.5-1.0 ซม. ผิวเกลี้ยง สีเขียว เมล็ดค่อนข้างกลม เปลือกหุ้มเมล็ด แข็ง ผิวขรุขระ สีน้ำตาล เนื้อในเมล็ดสีขาว

สรรพคุณทั่วไป

  • เปลือกต้น รสเย็นติดจะฝาด ต้มดื่ม แก้คัน แก้แสบร้อนตามผิวหนัง แก้ซางตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ดับพิษไข้ แก้ไอ เจริญอาหาร 
  • เนื้อไม้ รสเย็นติดจะฝาดขม ต้มดื่มฆ่าพยาธิ แก้ชาตัวร้อน แก้แสบร้อนตามผิว แก้พิษร้อนใน กระหายน้ำ ดับพิษไข้ เจริญอาหาร

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. https://rpplant.royalparkrajapruek.org/Display/details_fn/5898