หมุย
  ชื่อสามัญภาษาไทยหมุย
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษLime Berry
  ชื่อที่เกี่ยวข้องหัสคุณ  (สระบุรี), หมุยขาว (ภาคตะวันตก), สมุย มุยขาว ชะมุย กะม่วง (ภาคใต้ )
  ชื่อวิทยาศาสตร์Micromelum minutum (Forst.f.) Wight & Am.
  ชื่อพ้องGlycosmis subvelutina F.Muell.
  ชื่อวงศ์Rutaceae
  ชื่อท้องถิ่นคอมขน สามโซก (เชียงใหม่), หวด (ลำปาง), เพี้ยฟานดง สมัดดง สมัดต้น สมัดใหญ่ (เลย), หัสคุณ (สระบุรี), ฉี้ ลิ้นชี่ สาบแร้งสาบกา (จันทบุรี), หมอน้อย (อุตรดิตถ์), ดอกสะมัด สะแบก (อุดรธานี), ชะมุย (ชุมพร), มุยขาว (ประจวบคีรีขันธ์), หมุยขน (นครศรีธรรมราช), กะม่วง สมุยช้าง หมุยช้าง (ยะลา), มรุยช้าง (ตรัง), สมุย (สุราษฎร์ธานี), หมรุย หมุยใหญ่ (กระบี่), กาจับลัก จี้ปุกตัวผู้ จี้ย้อย มองคอง หญ้าสาบฮิ้น (ภาคเหนือ), หมุย สมุย หัสคุณ (ภาคใต้), สมัด, สมัดน้อย, สหัสคุณ, หัสคุณไทย
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

หมุย จัดเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงได้ถึง 10 เมตร ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้นสีเทา ส่วนต้นเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องตื้นตามยาว 

ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 7-15 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อใบบาง มีต่อมน้ำมันเล็กๆ จับดูแล้วจะรู้สึกเหนียว หลังใบเกือบเรียบถึงมีขนสั้นๆ ส่วนท้องใบมีขนบางๆ ใบมีกลิ่นหอมเหมือนการบูร มีรสหอมร้อน 

ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยมีกลีบดอกเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีขาวแกมเหลือง เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะม้วนไปด้านหลังเล็กน้อย 

ผลเป็นผลสด ออกเป็นพวงโต ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวยหรือรูปไข่ขนาดเล็ก ผิวผลเรียบใส ฉ่ำน้ำ ผลเป็นสีเขียวอ่อน มีขนปกคลุม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีแดง

สรรพคุณทั่วไป

  • ใบ มีกลิ่นหอม รสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณช่วยแก้ลมอันเสียดแทง ช่วยขับลม ยอกในข้อ เป็นยาแก้หืดไอ แก้ไอ แก้ไข้ แก้ไข้อันผอมเหลือง นำมาตำใช้เป็นยาทาแก้คัน หรือนำมาพอกประคบหรืออบไอน้ำ แก้ผื่นคันตามผิวหนัง กระจายเลือดลมให้เดินสะดวก และช่วยแก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • ใบและเปลือก ใช้เป็นยารมรักษาริดสีดวงจมูก (เมื่อโดนละอองยาจะร้อนมากจนแสบจมูก)
  • ดอก มีกลิ่นหอม รสร้อน ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค รักษาแผลเรื้อรัง และมีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะให้ตก ขับเสมหะให้ลงสู่คูถทวาร
  • ผล มีสรรพคุณเป็นยาถ่าย“เปลือกต้น” มีรสร้อน มีสรรพคุณช่วยแก้โลหิตในลำคอ และลำไส้ให้กระจาย
  • กระพี้ มีรสร้อน ใช้เป็นยาแก้โลหิตในลำไส้
  • ต้น มีรสร้อน มีสรรพคุณช่วยแก้ไอ แก้ลมภายในให้กระจาย และมีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิไส้เดือน
  • ราก มีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคหอบหืด เป็นยาแก้ไข้ แก้ลม แก้โลหิตอันข้นด้วยบุพโพ ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวง ยาขับเลือดและหนอง ใช้เป็นยาพอกแผลริดสีดวงจมูก และแผลคุดทะราด และตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากหัสคุณผสมกับรากปลาไหลเผือก ฝนกับน้ำซาวข้าวกินเป็นยารักษานิ่วในไต
  • ทั้งต้น มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงน้ำดี และเมื่อนำมาใช้ร่วมกันในพิกัด “สหัสคุณทั้ง 2” คือ หัสคุณ (สมัดน้อย) ที่กล่าวถึงในบทความนี้ และสหัสคุณเทศ (สมัดใหญ่) หรือหวดหม่อน (มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clausena excavata Burm.f.) โบราณว่า มีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาขับลมในท้อง แก้ผอมแห้ง หืดไอ แก้ริดสีดวง ช่วยขับเลือด ขับหนองให้ตก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)"

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. https://mgronline.com/south/detail/9630000053518