ดองดึง
  ชื่อสามัญภาษาไทยดองดึง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษClimbing lily, Turk’s cap, Superb lily, Flame lily, Gloriosa lily
  ชื่อวิทยาศาสตร์Gloriosa superba L.
  ชื่อวงศ์Colchicaceae
  ชื่อท้องถิ่นก้ามปู (ชัยนาท), หมอยหีย่า (อุดรธานี), พันมหา (นครราชสีมา), คมขวาน หัวขวาน บ้องขวาน (ชลบุรี), ดาวดึงส์ ว่านก้ามปู (ภาคกลาง), มะขาโก้ง (ภาคเหนือ), ดาวดึง หัวขวาน หัวฟาน พันมหา (ภาคอีสาน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    ต้นดองดึง จัดเป็นไม้เถาล้มลุกมีความยาวได้ถึง 5 เมตร มีอายุหลายปี มีเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดินเป็นทรงกระบอกโค้ง

    มีใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับหรือเรียงเป็นวงรอบข้อ 1-3 ใบ ใบคล้ายรูปหอกยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลมงอเป็นมือเกาะไม่มีก้าน ส่วนลักษณะของผลดองดึงจะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แตกตามรอยประสาน มีเมล็ดกลม ๆ สีแดงส้มจำนวนมาก

    ดอกดองดึง จะเป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ ดอกด้านบนมีสีแดง ด้านล่างมีสีเหลือง (หรือจะเป็นสีเหลืองซีดอมเขียวหรือเป็นสีแดงทั้งดอกก็ได้) ดอกใหญ่ยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 5 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้ 6 อัน มีก้านยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร อับเรณูจะยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนเกสรตัวเมียจะยาวประมาณ 0.3-0.7 เซนติเมตร แยกเป็น 3 แฉก

สรรพคุณทั่วไป

  • ดองดึงเป็นสมุนไพรที่สามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้
  • ช่วยลดเสมหะ แก้เสมหะ ใช้รับประทานแก้ลมพรรดึก
  • ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ ด้วยการใช้หัวดองดึงนำมาต้มแล้วรับประทานแก้อาหาร
  • ช่วยขับลมในกระเพาะ ด้วยการใช้หัวแห้งนำมาปรุงเป็นยารับประทาน
  • ช่วยรักษากามโรค ด้วยการใช้หัวแห้งนำมาปรุงเป็นยารับประทาน ช่วยแก้โรคหนองใน ช่วยรักษาบาดแผล ใช้ทาแก้โรคผิวหนัง ช่วยรักษาโรคเรื้อนด้วยการใช้หัวแห้งนำมาปรุงเป็นยารับประทาน ช่วยรักษาโรคคุดทะราดหรือโรคติดต่อเรื้อรังที่เป็นแผลตามผิวหนัง
  • หัวและรากนำมาฝนใช้ทาแก้พิษงู พิษแมงป่อง ตะขาบกัด
  • หัวดองดึงเมื่อนำมาตำแล้วใช้ทาจะมีสรรพคุณแก้อาการปวดข้อ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้อีกด้วย ช่วยแก้อาการหัวเข่าปวดบวมได้เป็นอย่างดี ช่วยรักษาโรคลมจับโปงหรือโรคปวดเข่า ช่วยรักษาโรคลมเข้าข้อหรือรูมาติสซั่ม ช่วยขับพยาธิสำหรับสัตว์พาหนะ
  • มีการใช้เหง้าหรือหัวดองดึงมาสกัดสารและทำเป็นยาเม็ดไว้สำหรับรักษาโรคเกาต์ (Gout) หรืออาการปวดข้อ

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  หัวแก้โรคเรื้อน แก้กามโรค
  รากทาแก้โรคผิวหนัง
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

การใช้หัวดองดึงมาปรุงเป็นยานั้นจะต้องใช้ในปริมาณน้อย ๆ และเจือจางก่อนการนำมาใช้ หากใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. สุดยอดสมุนไพรธรรมชาติที่ควรรู้.
  2. ศักดิ์ บวร. ปีที่พิมพ์ ม.ค.2543. สำนักพิมพ์สมิต
  3. www.rspg.or.th
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  5. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรมหาวิทยาลัยมหิดล