แก้ว
  ชื่อสามัญภาษาไทยแก้ว
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษAndaman satinwood, Chinese box tree, Orange jasmine
  ชื่อวิทยาศาสตร์Murraya paniculata (L.) Jack.
  ชื่อพ้องChaleas paniculata L.
  ชื่อวงศ์Rutaceae
  ชื่อท้องถิ่นแก้วพริก, ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ), จ๊าพริก (ลำปาง), แก้ว, แก้วขาว (ภาคกลาง), แก้วลาย (สระบุรี), กะมูนิง (มลายู-ปัตตานี), แก้วขี้ไก่ (ยะลา)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    แก้วเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น ขนาดเล็ก สูงประมาณ 5 - 8 เมตร เปลือกสีขาวปนเทาแตกเป็นร่องตามยาว แตกกิ่งก้านเล็กเป็นพุ่มแน่น

    ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เป็นช่อเรียงเวียนสลับ ช่อหนึ่งมีใบย่อย 3 - 7 ใบ ใบคู่ล่างมักมีขนาดเล็ก ลักษณะรูปใบมีหลายแบบ เช่น รูปไข่ รูปรี รูปข้าวหลามตัดเบี้ยว โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ หรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายหยักเป็นแอ่งตื้นๆ เนื้อในมีต่อมน้ำมัน เมื่อส่องกับแสงแดดจะเห็นเป็นจุดใสๆ เป็นพุ่มแน่นทึบสีเขียวเข้มและเป็นมัน ขยี้ดมมีกลิ่นฉุนเผ็ดร้อน

    ดอก มีสีขาวบริสุทธิ์ ออกเดี่ยวๆ หรือออกเป็นกระจุก หรือช่อสั้นๆ ช่อละ 2 - 3 ดอก กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบ ร่วงง่าย บานเวลากลางคืน มีกลิ่นหอม

    ผล เป็นผลแบบมีเนื้อหลายเมล็ด ลักษณะรูปไข่หรือรูปรี ปลายทู่กว้าง ผลอ่อนสีเขียวพอสุกเป็นสีส้มอมแดง ผิวมีต่อมน้ำมัน

    เมล็ด ลักษณะรูปไข่ มีขนหนาและเหนียวหุ้มรอบเมล็ด

สรรพคุณทั่วไป

  • ใบ รสร้อนเผ็ดขม ขับโลหิตระดูสตรี บำรุงธาตุ แก้จุกเสียดแน่นในท้อง ขับผายลม
  • ใบสดโขลกปั้นใส่ทวารหนักประมาณ 5 นาที ตัวจะร้อนเหมือนเป็นไข้ ขับพยาธิตัวตืด แก้ท้องเสีย
  • กิ่ง และ ใบ ใช้รักษาโรคเอดส์
  • ก้าน และ ใบสด รสเผ็ดร้อนขม บดแช่แอลกอฮอล์ 1 วัน ใช้ทาหรือเป็นยาฉีดระงับปวด ต้มอมบ้วนปากแก้ปวดฟัน
  • ก้านใช้ทำความสะอาดฟัน
  • ดอก และ ใบ ช่วยย่อยอาหาร แก้ไขข้ออักเสบ แก้ไอ เวียนศีรษะ
  • ราก และ ต้นแห้ง ต้มเคี่ยวกรองเอาน้ำทาปากมดลูกใช้ช่วยเร่งการคลอดบุตร ขับประจำเดือน
  • ราก รสเผ็ดขมสุขุม แก้ปวดสะเอว แก้ผื่นคันที่เกิดจากความชื้น แก้ฝีฝักบัวที่เต้านม แก้ฝีมดลูก แผลคัน พิษแมลงสัตว์กัดต่อย

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • คัมภีร์มหาโชติรัต ยาตรีจักร ใช้ใบแก้ว 1 กำมือ ต้มบำรุงโลหิต
  • คัมภีร์มุขโรค ทำยาประคบ แก้เหน็บชา

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือประมวลสรรพคุณสมุนไพรไทย 1 หน้า 44 หนังสือ พืชสมุนไพร ปะเภทต้น หน้า111-112
  2. https://pharmacy.su.ac.th/herbmed/herb/text/herb_detail.php?herbID=273