กระทุงหมาบ้า
  ชื่อสามัญภาษาไทยกระทุงหมาบ้า
  ชื่อที่เกี่ยวข้องWattakaka volubilis (L.f.) Stapf
  ชื่อวิทยาศาสตร์Dregea volubilis (L.f.) Benth. ex Hook.f.
  ชื่อวงศ์Asclepiadoideae
  ชื่อท้องถิ่นผักฮ้วนหมู (เชียงใหม่), เครือเขาคลอน (อุบลราชธานี), ผักง่วนหมู ต้นง่วนหมู หัวเขาคอน (ร้อยเอ็ด), มวนหูกวาง (เพชรบุรี), เครือเขาหมู ผักฮ้วนหมู ฮ้วนหมู (ภาคเหนือ), กระทุงหมาบ้า คันชุนสุนัขบ้า (ภาคกลาง), เถาคัน (ภาคใต้), มุ้งหมู, ฮ้วน, ผักม้วน, ผักโง้น, ผักง้วน, ผักง้วนหมู
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

จัดเป็นพรรณไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ยาวได้ถึง 10 เมตร เถาจะพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ ลำต้นมีลักษณะเป็นเถากลม เปลือกเถาอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนเถาแก่เป็นสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลอ่อน ตามผิวกิ่งตะปุ่มตะป่ำและมีช่องอากาศ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำดี ชอบที่ชื้น ทนแล้งได้ดี มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดียจนถึงจีนตอนใต้ ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในประเทศไทยพบขึ้นตามบริเวณป่าดิบ ป่าราบ หรือบริเวณชายป่าทั่วทุกภาคของประเทศ

ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือเกือบกลม ปลายใบแหลมหรือยาวรี โคนใบมนหรือเว้าหรือป้าน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.5-15 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีสีเขียวอ่อนกว่า ก้านใบยาวประมาณ 4 เซนติเมตร

ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก โดยจะออกบริเวณซอกใบหรือระหว่างก้านใบ ลักษณะของดอกเป็นดอกที่มีขนาดเล็ก มีกลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีเขียวอ่อน บิดเวียนกัน ยาวได้ประมาณ 2 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อ ส่วนปลายกลีบแยกออกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม เส้าเกสร 5 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร

ผลมีลักษณะเป็นฝัก ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 1.6-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.5-10 เซนติเมตร โคนฝักป่องแล้วค่อย ๆ เรียวไปหาปลาย มีครีบตามยาว ผิวฝักมีขนสีน้ำตาลอ่อนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ ข้างในฝักมีเมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่หรือรูปรีกว้าง โค้งเว้า มีขนาดยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ผิวเรียบเป็นมันวาว ขอบบางเป็นครีบ มีพู่ขนสีขาวเป็นมันเหมือนเส้นไหม

สรรพคุณทั่วไป

  • ส่วนที่กินได้ของผักชนิดนี้มีรสขมอมหวานมัน มีสรรพคุณช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกายและช่วยเจริญอาหาร 
  • รากและเถามีสรรพคุณช่วยทำให้นอนหลับ 
  • เถาใช้เป็นยาแก้โรคตา 
  • เถาใช้เป็นยาแก้หวัด ทำให้จาม บ้างใช้รากนำมาตัดเสียบเข้าไปในจมูกเพื่อทำให้เกิดการจาม 
  • รากใช้เป็นยาขับพิษร้อน กระทุ้งพิษ พิษฝี แก้ไข้พิษ พิษไข้หัว ไข้กาฬ ให้ซ่านออกมาจากภายใน ช่วยดับความร้อน แก้พิษน้ำดีกำเริบ 
  • เถามีรสเมาเบื่อเอียดติดขม มีสรรพคุณเป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ใช้กระทุ้งพิษไข้หัว ไข้กาฬ ดับพิษฝี แก้พิษดีกำเริบ ละเมอเพ้อกลุ้ม เซื่องซึม ปวดศีรษะ น้ำตาตกหนัก แสบร้อนหน้าตา 
  • รากมีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ ถ้าใช้มากเกินไปจะมีสรรพคุณทำให้อาเจียน ส่วนลำต้นอ่อนก็มีสรรพคุณทำให้อาเจียนเช่นกัน 
  • เถาเป็นยาเย็น ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ 
  • รากใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ 
  • ใบมีรสเมาเบื่อเอียนติดขม ใช้เป็นยาแก้แผลที่ถูกน้ำร้อนลวก แก้บวม แก้ฝี แก้ฝีภายใน แก้พิษต่าง ๆ การใช้ภายนอกให้นำใบสดมาตำให้ละเอียดแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็นแผลหรือใช้พอกฝีและบริเวณที่อักเสบ 
  • เถาใช้เป็นยาแก้พิษงูกัด
  • ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะใช้เป็นยาลดไข้ ทำให้อาเจียน ใช้ในการรักษาอาการอาเจียนออกมาเป็นเลือดสด (Hematemesis), เจ็บคอ, อาการฝีหนองติดเชื้อ (Carbuncles), กลาก, โรคหอบหืดและเป็นยาแก้พิษสำหรับยาพิษ (เนื่องจากทำให้อาเจียนได้ แต่ใช้รากเท่านั้น

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  ต้นถอนพิษไข้
  ใบแก้ฝี
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “กระทุงหมาบ้า”.  หน้า 32-33.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระทุงหมาบ้า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [03 ก.ค. 2015].
  3. ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร.  “ผักฮ้วน”.  (ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นิธิยา รัตนาปนนท์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.foodnetworksolution.com.  [03 ก.ค. 2015].
  4. กรีนคลินิก.  “กระทุงหมาบ้า”.  อ้างอิงใน : หนังสือ 20 ปี สวนสมุนไพร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ, หนังสือเครื่องยาไทย 1 (วุฒิ วุฒิธรรมเวช).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.greenclinic.in.th.  [03 ก.ค. 2015].
  5. เพจบ้านสุขภาพดี คลินิกแพทย์แผนไทย.  “กระทุงหมาบ้า (Dregea volubilis Stapf.) หรือผักฮ้วนหมู”.
  6. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ผักฮ้วนหมู”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [03 ก.ค. 2015].