หนุมานประสานกาย
  ชื่อสามัญภาษาไทยหนุมานประสานกาย
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษUmbrella tree , Edible-stemed Vine
  ชื่อที่เกี่ยวข้องว่านอ้อยช้าง
  ชื่อวิทยาศาสตร์Schefflera leucantha R.Viguier.
  ชื่อวงศ์Araliaceae
  ชื่อท้องถิ่นอ้อยช้าง (เลย), ชิดฮะลั้ง (จีน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

หนุมานประสานกายจัดเป็นพรรณไม้พุ่ม มีลำต้นสูงประมาณ 1-4 เมตร มีการแตกกิ่งก้านในระดับต่ำใกล้พื้นดิน ผิวของลำต้นค่อนข้างเรียบเกลี้ยง เป็นสีน้ำตาล 

ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 7-8 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปยาวรี หรือรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมีหูใบซึ่งจะติดอยู่กับก้านใบพอดี ส่วนริบขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร พื้นผิวใบเรียบเป็นมัน แผ่นใบหนา ส่วนก้านใบย่อยยาวได้ประมาณ 8-25 มิลลิเมตร 

ออกดอกเป็นช่อ ตรงปลายกิ่ง ช่อหนึ่งยาวได้ประมาณ 3-5 นิ้ว ลักษณะของดอกย่อยเป็นดอกสีเหลืองแกมเขียวหรือสีขาวนวลและมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-7 มิลลิเมตร 

ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ อวบน้ำ ขนาดของผลเท่าเม็ดพริกไทย โดยมีความกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่หรือสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด 

หนุมานประสานกายสามารถปลูกได้ดีในดินเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะดินร่วมที่มีอินทรียวัตถุมากๆ และเป็นพรรณไม้ที่ต้องการความชื้นปานกลาง ส่วนการขยายพันธุ์สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การใช้เมล็ด โดยใช้เมล็ดแก่เพราะในถุงพลาสติกแล้วจึงนำกล้าที่ได้ไปปลูก และการกิ่งปักชำ โดยใช้กิ่งพันธุ์ ขนาด 6-8 นิ้ว มีตา 3 ตา มีใบหรือปลายยอด 1/3 ของกิ่ง หนุมานประสานกายเป็นพืชที่โตเร็ว และแตกกิ่งก้านได้เร็ว มีทรงพุ่มค่อนข้างกว้าง การปลูกจึงใช้ระยะเวลาการปลูก 4 เดือน ขึ้นไป สำหรับการเก็บเกี่ยวจะตัวทั้งกิ่งแล้วริดใบออก เลือกเฉพาะใบที่ไม่อ่อนเกินไป นำไปล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้งหมาดๆ แล้วนำไปตากแดดจนแห้งสนิท หรือนำไปอบควบคุมอุณหภูมิไม่เกิน 65°ซ ซึ่งใบหนุมานประสานกายสด 10 กก. จะตากแห้งได้ประมาณ 1 กก.

สรรพคุณทั่วไป

  • นำยาทากันยุง กันยุงได้ถึง 7 ชั่วโมง
  • ช่วยทำให้เลือดลมเดินสะดวก
  • แก้อัมพฤกษ์
  • แก้ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
  • รักษาโรคกระเพาะอาหารและลำไส้
  • ยาแก้ไอ
  • ช่วยบรรเทาหวัด
  • แก้ร้อนใน
  • แก้เจ็บคอและคออักเสบ
  • ใช้แก้เส้นเลือดฝอยในสมองแตกทำให้เป็นอัมพาต
  • ช่วยกระจายเลือดลมที่จับกันเป็นก้อนหรือคั่งภายใน
  • ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด
  • แก้หืด
  • แก้ภูมิแพ้
  • แก้ช้ำใน
  • ใช้สมานแผลห้ามเลือด
  • ใช้ยางใส่แผลสด ทำให้แผลแห้งเร็ว
  • ช่วยแก้อาการอักเสบบวม

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • รักษาโรคหืด แพ้อากาศ ขับเสมหะ และโรคหลอดลมอักเสบ ใช้ใบสดเล็กๆ 9 ใบ ต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า-เย็น หรือใช้ใบแห้งชงกับน้ำเดือดดื่มแทนชา หรือใช้ใบแห้ง บดเป็นผงผสมน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดปลายนิ้วก้อย รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ก็ได้
  • ยาแก้อาเจียนเป็นเลือด ใช้ใบสด 12-15  ใบย่อย ตำคั้นน้ำ 2 ถ้วยตะไล รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยตะไล ติดต่อกัน 5-7 วัน  หรือจะใช้ใบสด ต้มน้ำดื่ม 
  • แก้ไอ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ ช้ำใน แก้ปวด กระจายเลือดที่คั่งในสมอง แก้อาเจียนเป็นเลือด  ใบตำพอกแผลสดเพื่อห้ามเลือดก็ได้ อีกตำราหนึ่งระบุว่า ใบสด 1 กำมือล้างน้ำให้สะอาด ต้มกับน้ำ 5 ถ้วยแกง เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วย ดื่มขณะยังอุ่น 2 ครั้ง ครั้งละครึ่งถ้วย เช้า เย็น ก่อนหรือหลังอาหารต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือน 
  • ช่วยแก้โรคหอบหืดได้ รักษาแผลในปากที่เกิดจากร้อนใน ด้วยการรับประทานใบสด 1-2 ใบ แล้วนำมาเคี้ยวให้ละเอียด แล้วกลืนเช้าเย็น  
  • ใช้เป็นยาแก้พิษต่าง ๆ ด้วยการใช้ใบนำมาต้มเอาแต่น้ำหรือนำมาคั้นเอาน้ำผสมกับเหล้ากิน 
  • ใช้แก้อาการหอบ ใช้ใบหนุมานประสานกาย 7 ใบ ชงน้ำรับประทานทุกวัน จนมีอาการดีขึ้น และรับประทานอาทิตย์ละครั้งต่อไป   
  • ใบสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วเอากากมาทาหรือพอกเป็นยาสมานแผล และช่วยห้ามเลือด 
  • แก้ปวดบวมอักเสบ ช่วยแก้ช้ำใน ด้วยการใช้ใบหนุมานประสานกายประมาณ 1-3 ช่อ นำมาตำให้ละเอียด ต้มกับน้ำครึ่งแก้ว แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง กินทุกเช้าและเย็น

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. http://srdi.yru.ac.th/bcqy/view/383_หนุมานประสานกาย
  2. http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_08_12.htm
  3. https://bit.ly/32uHQfi https://www.wisdomking.or.th/tree/103 
  4. วราภรณ์ คีรีพัฒน์.สมุนไพรไทย.เพื่อความเป็นไทย.คอลัมน์ ธรรมชาติบำบัดและสมุนไพร.วารสารรูสมิแล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.ปีที่29.ฉบับที่3.กันยายน-ธันวาคม2551 หน้า 80-85
  5. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “หนุมานประสานกาย”.  หน้า 185.
  6. ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
  7. อารีรัตน์ ลออปักษา สุรัตนา อำนวยผล วิเชียร จงบุญประเสริฐ.  การศึกษาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ (ตอนที่ 1).  ไทยเภสัชสาร 1988;13(1):23-36.
  8. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “หนุมานประสานกาย”.  หน้า 818-819.
  9. สอบถามเรื่องการใช้หนุมานประสานกาย.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัย(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://ww.madplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6158
  10. หนุมานประสานกาย.กลุ่มยาขับเสมหะ แก้ไอ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์).เข้าถึงได้จากhttp://www.rspg.or.th/plants_data/herbs_08_12.htm.
  11. ต้นหนุมานประสานกาย.กระดาน ถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5238