สมอพิเภก
  ชื่อสามัญภาษาไทยสมอพิเภก
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษBeleric Myrobalan, lnkNot , Bahera และ Beleric
  ชื่อวิทยาศาสตร์Terminalia bellirica (Gaeryn) Roxb
  ชื่อวงศ์Combretaceae
  ชื่อท้องถิ่นลัน (เชียงราย), แหน แหนต้น แหนขาว (ภาคเหนือ), ซิปะคู่ (กะเหรี่ยง เชียงใหม่), สะคู้ (กะเหรียง แม่ฮ่องสอน), สมอแหน (ภาคกลาง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

สมอพิเภกเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ มีความสูง 25-50 เมตร ส่วนยอดแผ่กว้าง บริเวณโคนต้นมักมีรากค้ำยัน (พูพอน) ขนาดใหญ่ เปลือกหนาสีดำแกมขาวประปราย และมีรอยแตกเป็นร่องตามยาว 

ใบ ใบสมอพิเภกเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกัน รูปไข่กลับ กว้าง 2-10 เซนติเมตร ยาว 4-16 เซนติเมตร ปลายใบมนกลมหรือแหลม โคนใบสอบแคบ เนื้อใบค่อนข้างหนาเป็นมัน มีเส้นใบ 6-8 คู่ ก้านใบมีความยาว 3-9 เซนติเมตร และมักมีตุ่มหูดเล็กๆอยู่กลางก้านใบหรือใกล้ๆโคนใบ 

ดอก ดอกสมอพิเภกมีสีเหลืองมีขนาดเล็กออกเป็นช่อตามง่ามใบ ช่อดอกยาว 3-15 เซนติเมตร เป็นดอกย่อยไม่มีก้านดอก ดอกเพศผู้จะอยู่ที่ปลายช่อ ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะอยู่ที่โคนช่อ มีกลีบรองดอกเชื่อมติดกัน มีขน ตอนล่างเป็นรูปท่อยาว 1.5-3 มิลลิเมตร ตอนบนแผ่ออกเป็นรูปถ้วยตื้นๆ กว้าง 0.4 เซนติเมตร ยาว 0.1 เซนติเมตร ส่วนปลายแยกเป็นกลีบรูปสามเหลี่ยม ไม่มีกลีบดอก เกสรตัวผู้มี 10 อัน และก้านเกสรตัวผู้ยาว 3 มิลลิเมตร รังไข่มี 1 ช่อง โดยท่อเกสรตัวเมียมีลักษณะเกลี้ยง ยาว 4 มิลลิเมตร 

ผล ผลมีลักษณะค่อนข้างกลมหรือรูปกลมรีออกรวมกันเป็นพวงโตๆ กว้าง 1.5-2 เซนติเมตร ยาว 2-3 เซนติเมตร มีสันให้เห็นรางๆ 5 สัน เปลือกผลมีลักษณะแข็งและมีขนละเอียดขึ้นเล็กน้อย เมล็ด มีลักษณะเรียวยาวรูปวงรี กว้าง 0.5 เซนติเมตร และยาว 1.2 เซนติเมตร โดยสมอพิเภกจะออกดอกระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน และผลจะแก่จัดในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน

สรรพคุณทั่วไป

  • ผลแห้งสมอพิเภกมีสรรพคุณใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย 
  • ผลแก่มีรสฝาดช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยแก้ธาตุกำเริบ 
  • ผลสุกใช้เป็นยาเจริญอาหาร ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดี ช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น 
  • รากสมอพิเภกใช้ต้มดื่มช่วยแก้พิษโลหิต ซึ่งทำให้มีอาการร้อนได้ 
  • ผลอ่อนมีรสเปรี้ยวช่วยแก้ไข้ 
  • ผลแห้งช่วยรักษาอาการไอและไข้เจือลม 
  • ลูกสมอพิเภกช่วยแก้ไข้เพื่อเสมหะ 
  • ช่วยแก้เสมหะจุกคอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ 
  • ช่วยแก้อาการเจ็บคอ เสียงแห้ง 
  • ผลอ่อนช่วยแก้ลม 
  • ดอกช่วยแก้โรคในตา รักษาโรคตา แก้ตาเปียกแฉะ
  • ช่วยแก้อาการบิด บิดมูกเลือด 
  • ผลอ่อนใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย โดยใช้ผลโตแต่ยังไม่แก่ประมาณ 2-3 ผล นำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว พร้อมใส่เกลือเล็กน้อย แล้วใช้รับประทานเพียงครั้งเดียว 
  • ผลแก่ใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน (ที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค) โดยใช้ผลแก่ประมาณ 2-3 ผล นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้วและใส่เกลือเล็กน้อย เคี่ยวจนเหลือ 1 ถ้วยแก้วและนำมาใช้ดื่มแก่อาการ 
  • ผลแก่ช่วยรักษาโรคท้องมาน 
  • ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับปัสสาวะพิการ 
  • เปลือกสมอพิเภกมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ โดยใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำรับประทาน 
  • ช่วยแก้ริดสีดวงทวารหนัก ส่วนแก่นช่วยแก้ริดสีดวงพรวก 
  • ช่วยรักษาโรคเรื้อน 
  • ผลช่วยแก้ผิวหนังเป็นตุ่มหนอง 
  • ใบช่วยรักษาบาดแผล แผลติดเชื้อ โดยใช้ใบสดนำมาตำแล้วนำมาพอกรักษาแผล 
  • ในประเทศแถบอินโดจีนใช้ผลแห้งเป็นยาฝาดสมาน 
  • ในตำรายาไทย สมุนไพรสมอพิเภกจัดอยู่ตำรับยา “พิกัดตรีผลา” ซึ่งประกอบไปด้วย ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย และลูกมะขามป้อม ซึ่งตำรับยาชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยแก้ปิตตะ วาตะ เสมหะ กองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฎฐาน ลูกสมอพิเภกจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตรีสมอ” ซึ่งประกอบไปด้วย ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย และลูกสมอเทศ ซึ่งตำรับยาชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยผายธาตุ รู้ถ่ายรู้ปิดเอง และช่วยแก้เสมหะ

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  ดอกแก้โรคตา
  เปลือกขับปัสสาวะ
  ต้นขับปัสสาวะ
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ประโยชน์สมอพิเภกช่วยขับปัสสาวะ ใช้เปลือก ต้น ต้มรับประทาน ขับปัสสาวะ 
  • เป็นยาระบาย ยาถ่าย ใช้ผลโตสมอพิเภกแต่ยังไม่แก่ 2 – 3 ผล ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใส่เกลือเล็กน้อย รับประทานครั้งเดียว 
  • ใช้สมอพิเภกอบแห้งเป็นยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน (ไม่ใช่บิด หรือ อหิวาตกโรค) ใช้ผลแก่ 2 – 3 ผล ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว ใส่เกลือเล็กน้อย เคี้ยวจนเหลือ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทาน -รักษาบาดแผล นำใบสดมาตำให้ละเอียด แล้วพอกที่บาดแผล 
  • แก้มะเร็ง สารสกัดจากสมุนไพรสมอพิเภกรวมกับสมอไทยและมะขามป้อมสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตและช่วยฆ่ามะเร็งได้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. https://www.disthai.com/16484914/สมอพิเภก 
  2. https://puechkaset.com/สมอพิเภก/
  3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  4. เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  5. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  6. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  7. ผศ.ดร.สีหณัฐ ธนาภรณ์ สาขาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  8. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1
  9. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์
  10. สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
  11. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)
  12. พจนานุกรมสมุนไพรไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม)