เหงือกปลาหมอดอกม่วง
  ชื่อสามัญภาษาไทยเหงือกปลาหมอดอกม่วง
  ชื่อวิทยาศาสตร์Acanthus ebracteatus Vahl.
  ชื่อวงศ์Acanthaceae
  ชื่อท้องถิ่นแก้มหมอ, แก้มหมอเล (กระบี่); นางเกร็ง, จะเกร็ง, อีเกร็ง (กลาง); เหงือกปลาหมอ, เหงือกปลาหมอน้ำเงิน (ทั่วไป)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    เหงือกปลาหมอดอกม่วงเป็นไม้พุ่มลำต้นเลื้อย สูง 1-2 เมตร ไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นเป็นโพรงตั้งตรงแต่เมื่ออายุมากจะเอนนอน ลำต้นแก่จะแตกกิ่งออกไป มีรากค้ำจุน และมีรากอากาศจากลำต้นที่เอนนอน

    ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตามข้ามสลับตั้งฉาก มักมีหนามที่โคนก้านใบ 1 คู่ ใบเกลี้ยงก้านใบยาว 1-1.5 ซม. แผ่นใบรูปใบหอกกว้าง ขนาด 3-6 x 7-18 ซม. แคบลงทางฐานใบขอบใบเรียบ ปลายใบกลม หรือเป็นติ่งหนาม หรือขอบใบเว้าเป็นลูกคลื่น มีหนามที่ปลายหยัก หนามนี้มักเกิดที่ปลายเส้นใบหลัก และมีหนามขนาดเล็กกว่าแทรก ปลายใบเป็นสามเหลี่ยมกว้าง มีหนามที่ปลาย

    ดอก ออกที่ปลายกิ่งแบบช่อเชิงลดยาว 10-20 ซม. ดอกย่อยไม่มีก้านดอก ออกรอบแกนประมาณ 20 คู่ ใบประดับล่างสุดของแต่ละเอกยาว 0.5 ซม. ร่วงหลุดเร็วใบประดับย่อยด้านข้าง 2 ใบ ยาว 0.7 ซม. เด่นชัด และติดคงทน วงกลีบเลี้ยงมี 4 แฉกสีเขียวอ่อน ถึงสีน้ำตาลอมเขียว แฉกบนใหญ่กว่าแฉกล่าง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ วงกลีบดอกสมมาตรด้านข้าง ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5-4 ซม. กลีบในด้านบนสั้นมากกลีบล่างใหญ่มี 3 แฉก สีน้ำเงินอ่อน หรือม่วงอ่อน

    ผล เป็นผลแห้งแตก รูปไข่ ขนาด 1-1.5 x 2.5-3 ซม. สีเขียว ถึงน้ำตาลอ่อนผิวเป็นมัน แตกสองซีกตามยาว มีเมล็ด 2-4 เมล็ดรูปร่างแบน เป็นเหลี่ยมยาว 1 ซม. มีรอยย่นที่เมล็ด สีเขียวอมขาว ออกดอกและผลเดือนมกราคม – พฤษภาคม มักขึ้นอยู่ตามพื้นที่ป่าชายเลนที่เป็นพื้นที่โล่ง เป็นดินร่วนเหนียว หรือตามริมชายฝั่งที่เป็นดินเลน จะขึ้นรวมเป็นกลุ่มจำนวนมากหากพื้นที่ถูกเปิดโล่ง

สรรพคุณทั่วไป

แก้อาการเหน็บชา ริดสีดวง มะเร็ง อัมพาต ปวดเมื่อย ปวดฟัน แก้หืด แก้ไอ แก้คัน ขับเสมหะ เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ฝี แก้ท้องเฟ้อ ขับโลหิต ขับน้ำเหลืองเสีย แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้โรคผิวหนัง
 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ทั้ง 5 (ราก, ลำต้น, ใบ, ดอก, ผล) สับตากแห้งบดเป็นผง ต้มเป็นยาหม้อดื่ม
  • ทั้ง 5 ต้มผสมเกลือบ้วนปากแก้อาการปวดฟัน
  • ทั้ง 5 หั่นตากแห้งบดละเอียด ละลายน้ำผึ้งรวงรับประทาน รักษาโรคริดสีดวง มะเร็ง
  • ทั้ง 5 นำมาต้มน้ำอาบ แก้คัน
  • ทั้ง 5 หั่นเป็นชิ้นเล็กๆตากแห้งน้ำมาต้มรับประทาน วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร แก้เข็ดเมื่อย แก้เหน็บชา
  • ทั้ง 5 ตำปะที่แผลแมลงสัตว์กัดต่อย หรือใช้เหงือกปลาหมอ
  • ทั้ง 5 รมควันปะที่แผล แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
  • ทั้ง 5 ต้มน้ำรับประทานเช้า-เย็น รักษาโรคปอดและโรคมะเร็ง
  • ต้น ตำผสมขมิ้นอ้อยใช้พอกฝี
  • ต้น ตำผสมน้ำมันงา+น้ำผึ้ง รับประทานแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • ต้น ตำผสมพริกไทย อัตรา 2:1 ละลายน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน เป็นยาอายุวัฒนะ
  • ต้น บดผสมละเอมเทศละลายน้ำ ทาถูนวดแก้เจ็บหลังเจ็บเอว
  • ใบ ต้มผสมกับเปลือกมะเฟือง อบเชย อ้อนแดง น้ำตาลทราย ดื่มแก้ไอ
  • ใบอ่อน ต้มผสมกับเปลือกอบเชยเป็นยาหม้อดื่มแก้ท้องเฟ้อ
  • ฝัก ต้มเป็นยาหม้อดื่มขับโลหิต

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือ ชื่อพันธุ์ไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตานันท์ หน้า 5
  2. หนังสือ พืชสมุนไพร ประเภทต้น เล่ม 2 หน้า 426-429