ทิ้งถ่อน
  ชื่อสามัญภาษาไทยทิ้งถ่อน
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษWhite siris, Sit
  ชื่อวิทยาศาสตร์Albizia procera (Roxb.) Benth.
  ชื่อพ้องAcacia elata (Roxb.) Voigt -Acacia procera (Roxb.) Willd. -Albizia elata (Roxb.) Benth. -Feuilleea procera (Roxb.) Kuntze -Inga gracilis Jungh. ex Miq. -Inga kihian Blume ex Miq. -Mimosa coriaria Blanco -Mimosa elata Roxb. -Mimosa procera Roxb.AB2
  ชื่อวงศ์Fabaceae
  ชื่อท้องถิ่นพระยาฉัตรทัน ส่วน (เชียงใหม่, เลย)/ ถ่อน ถินถ่อน นมหวา นุมหวา ทิ้งถ่อน (ภาคกลาง)/ ควะ เยกิเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)/ เชอะบ้อง ซะบ้อง แซะบ้อง เซะบ้อง เส่บ้อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นทิ้งถ่อน จัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงของต้นประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านต่ำและโปร่ง ลำต้นเปลาตรง ทรงพุ่มเป็นเรือนยอด ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนปกคลุมเล็กน้อย ต้นแก่เป็นสีเทาถึงสีน้ำตาล เปลือกต้นมีรอยด่างเป็นสีน้ำตาลกระจาย พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นตามป่าหญ้า ตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่าทุ่งตอนลุ่มในภาคกลางทั่วไป หรือในพื้นที่ต่ำน้ำท่วมถึง และยังขึ้นกระจัดกระจายทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคตะวันออก ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้มักจะขึ้นเป็นกลุ่มแบบห่าง ๆ กันบนภูเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500-1,000 เมตร ส่วนในกรุงเทพฯ ก็พบว่ามีปลูกกันบ้างประปราย และในต่างประเทศพบขึ้นทางตอนใต้ของจีน พม่า ลาว และกัมพูชา 

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับกัน ช่อใบย่อยยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร เหนือโคนก้านมีต่อมขนาดปลายก้าน มีต่อมเป็นรูปร่างกลมนูน ก้านใบมีขนปกคลุมเล็กน้อย มีใบย่อยประมาณ 5-12 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือเป็นรูปไข่กลีบ หรือรูปขอบขนาน หรือรูปรี ปลายใบมนหรือเว้าเล็กน้อย โคนใบมนหรือเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.75-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน บ้างว่าหลังเรียบ ส่วนท้องใบมีขนสั้นปกคลุม ส่วนก้านใบย่อยยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร 

ดอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง โดยช่อดอกจะเกิดเป็นกลุ่มบนก้านช่อรวม กลุ่มละประมาณ 2-5 ช่อ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ในแต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 15-25 ดอก ดอกย่อยไม่มีก้านดอก หรือมีแต่สั้นมาก ดอกเป็นสีขาวมีกลีบดอก 5 กลีบ เกสรขาวแกมสีเหลืองอ่อน ติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ผิวเรียบ ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีลักษณะเป็นรูปไข่ปลายแหลม ยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ปลายกลีบดอกมีขนเล็ก ๆ ดอกมีเพศผู้จำนวนมาก โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดล้อมรอบเกสรเพศเมีย หลอดยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ก้านชูอับเรณูเป็นสีเหลืองอ่อน ปลายก้านเป็นสีเขียวอ่อน ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร อับเรณูมีสีขาวแกม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบติดกันเป็นรูปถ้วยยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร สีเขียวผิวเรียบขอบถ้วยแยกเป็นแฉก 5 แฉก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมยาวประมาณ 0.8-1 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นสีขาว 

ผล ลักษณะออกผลเป็นฝักแบน มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ฝักเมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 6-12 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบนรี สีน้ำตาล มีขนาดกว้างประมาณ 4 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร

สรรพคุณทั่วไป

  • เปลือกต้นใช้ต้มกับรากมะตูม เป็นยาอายุวัฒนะ 
  • แก่นใช้เป็นยาบำรุงกำลัง 
  • เปลือกต้นมีรสฝาดร้อน ช่วยแก้ลมในกองธาตุ แก้ลมป่วง 
  • ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ธาตุพิการ 
  • เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้กษัย แก้ลมกษัย 
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร 
  • เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้หืดไอ 
  • เปลือกต้นใช้ต้มกับรากมะตูม มีสรรพคุณแก้อาเจียน 
  • ช่วยในการขับผายลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ หรือจะใช้รากและแก่นต้มกับน้ำดื่มแก้อาการท้องอืดก็ได้เช่นกัน ส่วนผลก็เป็นยาขับลม แก้อาการท้องขึ้นอืดเฟ้อเช่นกัน 
  • เปลือกต้นใช้ต้มกับรากมะตูมเป็นยาแก้ท้องร่วง 
  • ช่วยแก้บิดมูกเลือด 
  • แก่นใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร 
  • ช่วยแก้ระดูขาวของสตรี 
  • รากใช้เป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย 
  • เปลือกใช้ภายนอกเป็นยาห้ามเลือด ใช้ชะล้างบาดแผลและช่วยสมานแผล ช่วยแก้แผลเน่าเปื่อยเรื้อรังและใช้ทาฝี 
  • เปลือกต้นช่วยแก้โรคผิวหนัง
  •  รากและแก่นทิ้งถ่อนมีรสขมร้อน ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดหลัง ปวดเอว แก้เส้นตึง เส้นท้องตึง

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกอ่อนสามารถนำไปลวกหรือต้มรับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริกได้
  • ใบมีรสเฝื่อนเมา นำมาเผาไฟผสมกับน้ำใบยาสูบฉุน ๆ และน้ำปูนขาว ใช้เป็นยาฉีดฆ่าตัวสัตว์ หนอน และแมลงได้เป็นอย่างดี
  • เปลือกต้นให้น้ำฝาดที่สามารถนำมาใช้ในการฟอกหนัง ใช้ในการย้อมผ้า
  • เนื้อไม้มีความเหนียว แข็งแรงทนทาน และชักเงาได้ดี สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้ในงานแกะสลัก ทำเครื่องมือกสิกรรม เช่น ด้ามจอบ ครกตำข้าว ฯลฯ หรือใช้ทำล้อเลื่อน กระเดื่อง ฟันสีข้าว ถังไม้ ทำรถ เรือแจว เรือพาย พาย กรรเชียง ฟืนถ่าน ฯลฯ
  • เนื่องจากต้นทิ้งถ่อนเป็นไม้ตระกูลถั่วจึงมีการนำมาใช้ปลูกในแปลงวนเกษตร โดการปลูกร่วมกับพืชเกษตรกรรมอื่น ๆ และยังมีการนำไปปลูกไว้ตามสวนหรือริมถนนอีกด้วย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “ทิ้งถ่อน”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 121.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ถ่อน”.  หน้า 41
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ถ่อน”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 322.
  4. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “ถ่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com.  [19 มี.ค. 2014].
  5. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “Sit, White siris”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [19 มี.ค. 2014].
  6. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “ถ่อน (กลาง), ส่วน (เชียงใหม่), เชอะบ้อง (กาญจนบุรี), ทิ้งถ่อน (กลาง)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [19 มี.ค. 2014].
  7. บันทึกขนำริมทุ่งปลักเหม็ด.  “ทิ้งถ่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: plugmet.orgfree.com.  [19 มี.ค. 2014].
  8. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม.  “สมุนไพรพื้นบ้านทิ้งถ่อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th.  [19 มี.ค. 2014].
  9. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม.  “ผักซึก (ถ่อน)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th.  [19 มี.ค. 2014].