สะเดา
  ชื่อสามัญภาษาไทยสะเดา
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษNeem, Margosa, Neem tree, Indian margosa
  ชื่อวิทยาศาสตร์Azadirachta indica A. Juss.
  ชื่อพ้องAzadirachta indica A. Juss. Var. Siamensis Valeton,Azadirachta indica var. siamensis Valeton, Melia azadirachta L.
  ชื่อวงศ์Meliaceae
  ชื่อท้องถิ่นสะเดาบ้าน (ภาคกลาง), สะเลียม (ภาคเหนือ), ต้นกะเดา (ภาคอีสาน), เดา, กระเดา (ภาคใต้), ตะหม่าเหมาะ (กะเหรี่ยง), ผักสะเลม (ไทยลื้อ)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

สะเดาเป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 5 - 15 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเทาหรือเทาปนดำ ลักษณะแตกเป็นร่องตามยาว แตกกิ่งก้านสาขามากมาย บางต้นก็เป็นทรงพุ่ม 

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงแบบสลับ ลักษณะใบรูปใบหอกแกมรูปไข่ โคนใบเฉียง ขอบใบเป็นจักฟันเลื่อย ปลายใบเหลมหรือเรียวแหลม ยอดอ่อนหรือใบที่แตกใหม่มีสีน้ำตาลแดง เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบสีเขียวปนขาว มองเห็นได้ชัด แผ่นใบสีเขียวเข้ม เป็นมัน 

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงตามปลายกิ่งตรงซอกระหว่างก้านใบกับกิ่ง ออกดอกพร้อมใบอ่อน ดอกมีขนาดเล็กแบบสมมาตรตามรัศมี รูปกรวย มีกลีบดอก 5 กลีบสีขาวนวล ก้านชูเกสรตัวผู้รวมกับเป็นเกสร 

ผล ลักษณะผลสดรูปทรงกลมรี ผิวเรียบสีเขียวอ่อน ผลแก่สีเหลืองส้ม เมล็ดแข็ง และมีเมล็ดเดี่ยว รูปรี

สรรพคุณทั่วไป

  • ดอก ยอดอ่อน - แก้พิษโลหิต กำเดา แก้ริดสีดวงในลำคอ คันดุจมีตัวไต่อยู่ บำรุงธาตุ ขับลม ใช้เป็นอาหารผักได้ดี
  • ขนอ่อน - ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวง แก้ปัสสาวะพิการ
  • เปลือกต้น - แก้ไข้ เจริญอาหาร แก้ท้องเดิน บิดมูกเลือด
  • ก้านใบ - แก้ไข้ ทำยารักษาไข้มาลาเรีย
  • กระพี้ - แก้ถุงน้ำดีอักเสบ
  • ยาง - ดับพิษร้อน
  • แก่น - แก้อาเจียน ขับเสมหะ
  • ราก - แก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะ ซึ่งเกาะแน่นอยู่ในทรวงอก
  • ใบ, ผล - ใช้เป็นยาฆ่าแมลง บำรุงธาตุ
  • ผล มีสารรสขม - ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ และยาระบาย แก้โรคหัวใจเดินผิดปกติ
  • เปลือกราก - เป็นยาฝาดสมาน แก้ไข้ ทำให้อาเจียน แก้โรคผิวหนัง
  • น้ำมันจากเมล็ด - ใช้รักษาโรคผิวหนัง และยาฆ่าแมลง

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ช่อดอกไม่จำกัด ลวกน้ำร้อน จิ้มน้ำปลาหวาน หรือน้ำพริก หรือใช้เปลือกสด ประมาณ 1 ฝ่ามือ ต้มน้ำ 2 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 1/2 ถ้วยแก้ว
  • ใช้เป็นยาฆ่าแมลง
  • สะเดาให้สารสกัดชื่อ Azadirachin ใช้ฆ่าแมลงโดยสูตร สะเดาสด 4 กิโลกรัม ข่าแก่ 4 กิโลกรัม ตะไคร้หอม 4 กิโลกรัม นำแต่ละอย่างมาบดหรือตำให้ละเอียด หมักกับน้ำ 20 ลิตร 1 คืน น้ำน้ำยาที่กรองได้มา 1 ลิตร ผสมน้ำ 200 ลิตร ใช้ฉีดฆ่าแมลงในสวนผลไม้ และสวนผักได้ดี โดยไม่มีพิษและอันตราย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 198. 
  2. disthai.com/17056969/สะเดา
  3. เดชา ศิริภัทร.สะเดา ความขมที่เป็นยา.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่157.พฤษภาคม.2535
  4. สะเดา.สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์.สำนักงานข้อมูลสุมนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. ผัก-ผลไม้พื้นบ้าน.คอลัมน์เรารักสุขภาพ.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่229.พฤษภาคม.2541