ระกำเครือ
  ชื่อสามัญภาษาไทยระกำเครือ
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษThe Salacca
  ชื่อวิทยาศาสตร์Salacea wallichiana, Mart.
  ชื่อพ้องCalamus zalacca Roxb., Salacca beccarii Hook.f., Salacca macrostachya Griff.
  ชื่อวงศ์Arecaceae
  ชื่อท้องถิ่น
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นระกำ เป็นต้นหรือเหง้าเตี้ย มียอดแตกเป็นกอ ออกผลรวมกันเป็นกระจุกแบบทะลาย โดยหนึ่งทะลายจะประมาณ 2-5 กระปุก ลำต้นจะมีหนามแหลมยาวประมาณ 1 นิ้ว ใบมีลักษณะยาวเป็นทางประมาณ 2-3 เมตร 

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ใบกว้าง ทางใบยาว ใบมีสีเขียวเข้ม ปลายใบ และฐานใบเรียว ก้านใบมีหนามแหลมคม และแข็งมาก ก้านใบเรียงเวียนจากโคนต้นจนถึงยอด ใบ และก้านใบมีความยาวประมาณ 3-4 เมตร ปลายใบลู่โค้งลง 

ดอก ออกเป็นช่อ แยกเพศ แยกต้น ช่อดอกแทงออกจากซอกใบ เรียวยาว มีก้านช่อดอกย่อยแยกออกจากแกนช่อดอก มีขนนุ่มสั้นสีชมพูปกคลุม และมีใบประดับหุ้มที่ช่อดอก เมื่อช่อดอกโตเต็มที่ก้านหุ้มจะแตกออกมองเห็นช่อดอก ดอกบานจากโคนไปสู่ปลายช่อดอก ดอกระกำมี 2 ชนิด คือ ดอกตัวผู้ และดอกสมบูรณ์ ช่อดอกตัวผู้มีขนาดเล็ก ไม่มีรังไข่ มีเกสรตัวผู้ประมาณ 6 อัน ในกลีบในที่แข็งเหนียว 3 อัน ส่วนดอกสมบูรณ์มีเกสรตัวผู้ 6 อัน และรังไข่ 1-3 อัน รังไข่ที่เจริญเป็นผลแล้ว ขนที่ปกคลุมผลจะกลายเป็นหนามแหลม เปราะ อยู่บริเวณปลายเกล็ดของเปลือก 

ผล ลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 1.5 นิ้ว ปกคลุมด้วยเปลือกแข็งหยาบสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ แต่บาง มีเกล็ดเล็กๆเรียงซ้อนกันปกคลุมทั่วผล เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน สีส้มหรือสีแดง ด้านในประกอบด้วยเนื้อผลอ่อนนุ่ม เป็นกลีบหุ้มผล 1-3 กลีบ เนื้อที่ดิบมีรสฝาด และเปรี้ยว เมื่อสุกมีรสหวานอมเปรี้ยว เนื้อนุ่ม บาง ฉ่ำน้ำ และมีกลิ่นหอม มีเมล็ดด้านในประมาณ 1-3 เมล็ด เมล็ดค่อนข้างใหญ่

สรรพคุณทั่วไป

  • ช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ 
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร 
  • ผลระกำใช้รับประทานเป็นยารักษาอาการไอ 
  • ช่วยรักษาอาการไข้สำประชวร 
  • ใช้เป็นยาขับเสมหะ 
  • ช่วยรักษาเลือด รักษากำเดา 
  • ช่วยในการย่อยอาหาร

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  1. ระกำสามารถนำมาปรุงรสเปรี้ยวในอาหารได้ อย่างเช่น ต้มยำ, ต้มส้ม, น้ำพริก, ข้าวยำ เป็นต้น 
  2. ใช้รับประทานเป็นผลไม้สดหรือทำเป็นของหวานได้ เช่น ระกำลอยแก้ว น้ำระกำ ระกำแช่อิ่ม เป็นต้น 
  3. มีการใช้ผิวของระกำนำมาสกัดเป็นน้ำมันระกำ 
  4. ไม้ของต้นระกำเมื่อลิดเอาหนามออกหมดสามารถนำมาใช้กั้นทำเป็นฝาบ้านได้ 
  5. เมื่อปอกเปลือกของไม้ระกำออก เนื้อไม้ของระกำอ่อนนุ่มมีความหยุ่น สามารถนำมาใช้ทำเป็นจุกขวดน้ำ ทำของเล่นเด็ก เนื่องจากลอยน้ำได้ และใช้เป็นเครื่องประกอบดอกไม้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือผลไม้ 111 ชนิด คุณค่าอาหารและการกิน (ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์, นิดดา หงษ์วิวัฒน์) 
  2. เว็บไซต์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์