ลูกใต้ใบ
  ชื่อสามัญภาษาไทยลูกใต้ใบ
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษEgg woman, Tamalaki, Hazardana, Stonebreaker, Seed-under-leaf
  ชื่อวิทยาศาสตร์Phyllanthus amarus Schumach. & Thonn.
  ชื่อวงศ์Euphorbiaceae
  ชื่อท้องถิ่นต้นใต้ใบ, หญ้าลูกใต้ใบ, หมากไข่หลัง (เลย), หญ้าใต้ใบ (อ่างทอง, นครสวรรค์, ชุมพร), ไฟเดือนห้า (ชลบุรี), หญ้าใต้ใบขาว (สุราษฏร์ธานี), หน่วยใต้ใบ (คนเมือง), มะขามป้อมดิน (ภาคเหนือ), จูเกี๋ยเช่า (จีน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นลูกใต้ใบ จัดเป็นพืชล้มลุก มีอายุเพียงปีเดียว มีความสูงประมาณ 10-60 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นไม่มีขน และทุกส่วนของต้นมีรสขม ใบลูกใต้ใบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ มีใบย่อยประมาณ 23-25 

ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ โคนใบมนแคบ ส่วนปลายใบมนกว้าง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร มีก้านใบสั้นมาก มีหูใบสีขาวนวล ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมเกาะติดอยู่ 2 อัน 

ดอกลูกใต้ใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศ มีขนาดเล็กสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.08 เซติเมตร ดอกเพศเมียมักจะอยู่บริเวณโคนก้านใบ ส่วนดอกเพศผู้มักจะอยู่บริเวณส่วนปลายของก้านใบ โดยดอกตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้ประมาณ 2 เท่า เกสรตัวผู้มี 3 ก้าน โคนก้านเกสรเชื่อมกันเล็กน้อย มีอับเรณูแตกอยู่ตามแนวราบ ส่วนกลีบรองและกลีบดอกเป็นรูปไข่ ขอบกลีบมีสีอ่อน 

ผลลูกใต้ใบ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น ผิวเรียบมีสีเขียวอ่อนนวล ผลมีขนาดประมาณ 0.15 เซนติเมตร โดยผลมักจะเกาะติดอยู่บริเวณใต้โคนของใบย่อย และอยู่ในบริเวณกลางก้านใบ ผลเมื่อแก่จะแตกเป็นพู 6 พู ในแต่ละพูจะมีเมล็ด 1 เมล็ด สีน้ำตาล มีลักษณะเป็นรูปเสี้ยว 1 ส่วน 6 ของรูปทรงกลม มีสันตามยาวทางด้านหลัง และมีขนาดเล็กมากประมาณ 0.1 เซนติเมตร

สรรพคุณทั่วไป

  • ช่วยรักษามาลาเรีย 
  • ช่วยแก้อาการไอ (ทั้งต้น)ใบอ่อนใช้เป็นยาแก้ไอสำหรับเด็ก 
  • รากและใบของลูกใต้ใบใช้ชงดื่มกับน้ำเป็นยาบำรุงร่างกาย 
  • ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย 
  • ในเขมรใช้ลูกใต้ใบชนิด P. urinaria เป็นยาเจริญอาหาร

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ทั้งต้นนำมาใช้ต้มดื่มกับหญ้าปีกแมลงวัน (กรดน้ำ) และหญ้าปัน 
  • ทั้งต้นใช้เป็นยาเบื่อปลา ซึ่งชาวอินเดียจะนำลูกใต้ใบไปใช้ในการเบื่อปลา แต่ปลาที่ถูกเบื่อนั้นสามารถรับประทานได้ และข้อมูลก็ไม่ได้ระบุด้วยว่าจะมีผลอะไรกับคนหรือไม่หากนำผลมารับประทาน 
  • ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรลูกใต้ใบมาผลิตเป็นยาสมุนไพรลูกใต้ใบแบบสำเร็จรูป ซึ่งมีทั้งในรูปของแคปซูล ชนิดซอง ซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่ายและสะดวกในการรับประทาน 
  • ลูกใต้ใบเป็นสมุนไพรที่มีสารสกัดที่มีคุณค่าสูง เพราะมีประโยชน์ต่อร่างกายในด้านการป้องกันและรักษาโรค และยังสามารถนำมาประยุกต์เพื่อใช้ในสัตว์ได้อีกด้วย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. ศิริพร  เหลียงกอบกิจ.ลูกใต้ใบ&ตับอักเสบบี.จุลสารข้อมูลสมุนไพร.
  2. รศ.ภกญ.นวลน้อย จูฑะพงษ์.รายงานการวิจัยฤทธิ์ของลูกใต้ใบต่อหน้าที่ไมโตคอนเดรียในตับหนูขาว.สาขาวิชาเภสัชวิทยา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
  3. ฤทธิ์ปกป้องตับของลูกใต้ใบในหนูขาว.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, 2530. สมุนไพรไทยตอนที่ 5 . ฝ่ายพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กองบำรุง กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ
  5. เต็ม สมิตินันทน์,2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.