ไม้แดง
  ชื่อสามัญภาษาไทยไม้แดง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษIron wood, Irul, Jamba, Pyinkado
  ชื่อวิทยาศาสตร์Xylia xylocarpa (Roxb.) Taub.
  ชื่อพ้องAcacia xylocarpa (Roxb.) Willd., Inga xylocarpa (Roxb.) DC., Mimosa xylocarpa Roxb., Xylia dolabriformis Benth.
  ชื่อวงศ์Fabaceae
  ชื่อท้องถิ่นแดง (ทั่วไป), จะลาน จาลาน ตะกร้อม สะกรอม (จันทบุรี), เพ้ย (ตาก), ปราน (สุรินทร์), ไปร (ศรีษะเกษ), กร้อม (นครราชสีมา), ผ้าน (เชียงใหม่), คว้าย (เชียงใหม่, กาญจนบุรี), ไคว เพร่ (แพร่, แม่ฮ่องสอน), เพ้ย (กะเหรี่ยง-ตาก)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    ต้นแดง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นได้ถึง 25 เมตร และบางครั้งอาจสูงได้ถึง 30-37 เมตร ลำต้นแดงค่อนข้างเปลาตรงหรือเป็นปุ่มปม ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดรูปทรงกลมหรือเก้งก้างไม่ค่อยแน่นอน มีสีเขียวอมแดง เปลือกต้นเรียบสีเทาอมแดง มีตกสะเก็ดออกเป็นแผ่นกลมบาง ๆ รอบลำต้น และเมื่อสับเปลือกทิ้งไว้จะได้ชันที่มีสีแดง ส่วนยอดอ่อนมีขนสีเหลืองปกคลุมอยู่ การเพาะต้นแดง วิธีที่นิยมกันก็คือการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เพราะสามารถจะผลิตกล้าได้เป็นจำนวนมาก ส่วนวิธีอื่น ๆ นั้นยังไม่ได้มีการนำมาใช้กัน เนื้อไม้มีสีแดงเรื่อ ๆ หรือเป็นสีน้ำตาลอมแดง มีเสี้ยนเป็นลูกคลื่นหรือมักสน เนื้อไม้ละเอียดพอประมาณ มีความแข็งแรง เหนียว และทนทานมาก สามารถเลื่อยไสกบ ตบแต่งได้เรียบร้อย ขัดชักเงาได้ดี โดยมีความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.18 และเนื้อไม้มีความแข็งประมาณ 1,030 กิโลกรัม มีความทนทานตามธรรมชาติตั้งแต่ 10-18 ปี ส่วนการอาบน้ำยาไม้ทำได้ยาก

    ออกเป็นช่อแบบขนนกสองชั้น ช่อใบยาวประมาณ 10-22 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ในแต่ละช่อใบจะมีใบย่อยประมาณ 4-5 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน แผ่นใบมักเบี้ยวและมีขนาดไม่เท่ากัน มีความกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตร ปลายใบแหลมมน ส่วนฐานใบมักเบี้ยว ใบแก่จะไม่มีขนปกคลุม หรืออาจมีบ้างประปรายด้านท้องใบเล็กน้อย ส่วนก้านใบย่อยจะยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร

    ดอกมีสีเหลืองขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ขึ้นอัดกันแน่นเป็นช่อกลมเดี่ยว ๆ หรือแตกกิ่งก้าน หรือขึ้นเป็นกลุ่ม ในแต่ละช่อดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.4 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีขนขึ้นปกคลุมประปราย ส่วนกลีบรองกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ตรงปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ มีขนสีเหลืองขึ้นปกคลุม กลีบดอก 5 กลีบ ติดกันเล็กน้อยที่บริเวณฐาน และมีเกสรตัวผู้ 10 ก้าน แยกออกจากกันอย่างอิสระยื่นยาวออกมานอกดอก โดยดอกต้นแดงนี้จะออกดอกพร้อมกับใบอ่อนในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์และอาจถึงเดือนมีนาคม

    ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนแข็ง ลักษณะเป็นรูปขอบขนานเรียวและโค้งงอที่ส่วนปลาย ฝักมีความยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ผิวฝักเรียบมีสีน้ำตาลอมเทา ไม่มีขนขึ้นปกคลุมและไม่มีก้าน เมื่อฝักแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก และเปลือกของฝักที่แตกมักจะม้วนบิดงอ ในหนึ่งฝักจะมีเมล็ดจำนวนหลายเมล็ด ประมาณ 6-10 เมล็ด โดยฝักจะแก่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม เมล็ดมีลักษณะแบนเรียวแหลม ยาวรีหรือเกือบกลม เมล็ดมีสีน้ำตาลเป็นมัน มีความกว้างประมาณ 0.35-0.5 นิ้วและยาวประมาณ 0.4-0.7 นิ้ว เปลือกหุ้มเมล็ดแข็งพอประมาณ หากเมล็ดมีความสมบูรณ์ดีจะงอกได้ทันที แม้จะเก็บไว้ในระยะ 1 ปี ก็ยังคงงอกได้ดีเช่นเดิม

สรรพคุณทั่วไป

  • เปลือกมีรสฝาด ช่วยสมานธาตุ ช่วยบำรุงหัวใจ
  • แก่นบำรุงโลหิต
  • แก่นนำมาใช้ผสมยาแก้ซางโลหิต ช่วยแก้โรคกษัย ช่วยแก้พิษโลหิต ช่วยดับพิษ แก้ไข้กาฬ
  • ดอกนำมาใช้ผสมเป็นยาแก้ไข้
  • แก่นช่วยแก้ไข้ท้องเสีย ช่วยแก้อาการท้องร่วง ช่วยแก้อาการปวดอักเสบของฝีชนิดต่าง ๆ

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “แดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [28 พ.ย. 2013].
  2. ๑๐๘ พรรณไม้ไทย. “ต้นแดง ต้นไม้ประจำจังหวัดตาก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com. [28 พ.ย. 2013].
  3. โรงเรียนเขาทรายทับคล้อพิทยา อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร. “ต้นแดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: khtpschool.ning.com. [28 พ.ย. 2013].
  4. กรมป่าไม้. “ไม้แดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.forest.go.th. [28 พ.ย. 2013].