หญ้าดอกขาว
  ชื่อสามัญภาษาไทยหญ้าดอกขาว
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษLittle ironweed, Ash-coloured fleabane, Ash-coloured ironweed
  ชื่อวิทยาศาสตร์Vernonia cinerea (L.) Less.
  ชื่อวงศ์Asteraceae
  ชื่อท้องถิ่นหญ้าละออง , หญ้าหมอน้อย (ภาคกลาง,กรุงเทพฯ) , หญ้าสามวัน (ภาคเหนือ,เชียงใหม่),ถั่วแฮะดิน,ฝรั่งโคก(เลย) , หนาดหนา (ชัยภูมิ),เสือสามขา (ตราด) ,ก้านธูป (จันทบุรี) , หญ้าหนวดแป้ง , ฉัตรพระอินทร์,หญ้าเนียมช้าง, ม่านสวรรค์ (ทั่วไป),เซียหั่งเช่า (จีนแต้จิ๋ว) , ซางห่างฉ่าง (จีนกลาง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

หญ้าดอกขาวเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุได้ประมาณ 1-5 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 20-80 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรงแตกกิ่งก้านน้อย กิ่งและก้านเรียว มีลักษณะเป็นร่องและมีขนสีเทาขึ้นปกคลุม มีลายเส้นนูนขึ้นตามข้อ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง เจริญเติบโตได้ตลอดทั้งปี 

ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน รูปแถบ หรือรูปใบหอก ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบมนหรือแหลม ส่วนขอบใบหยักหรือจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3.5-6.5 เซนติเมตร หลังใบมีเส้นใบชัดเจน มีสีเขียวเข้ม มีขนทั้งสองด้าน 

ดอกเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีดอกย่อยประมาณ 20 ดอก มีใบประดับลักษณะเป็นรูปคล้ายระฆัง 4 ชั้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ลักษณะของดอกย่อยเป็นหลอดยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ดอกเป็นสีม่วงอ่อนอมสีแดง สีม่วง หรือสีชมพู เมื่อดอกบานเต็มที่สีดอกจะจางลง พอกดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีขาว เมื่อดอกร่วงโรยแล้วจะเห็นผลเป็นรูปทรงกระบอก 

ผลชนิดผลแห้งเมล็ดล่อน มีเมล็ดเดียว ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกแคบสีน้ำตาลเข้ม เปลือกแข็งและแห้งไม่แตก ยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ด้านบนมีขนสีขาวปกคลุม ผลเป็นพู่แตกบาน ช่วยทำให้เมล็ดลอยไปตามลมได้

สรรพคุณทั่วไป

  • ใช้ลดความดันโลหิต
  • แก้ดีซ่าน
  • รักษาหอบหืด
  • รักษาตับอักเสบ
  • แก้บิด
  • แก้หวัด
  • ใช้ลดไข้
  • แก้ปวดข้อ
  • แก้ท้องเสีย
  • ขับปัสสาวะ
  • รักษานิ่ว
  • แก้ไอ
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ผื่นคัน
  • กลากเกลื้อน
  • ใช้ขับพยาธิ
  • ราก แก้บวมน้ำ ขับพยาธิ ขับปัสสาวะ แก้ซางตะกั่ว แก้ท้องผูกลำต้น แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้นมคัด แก้บวม ดูดหนอง
  • ใบ พอกแผล ถอนพิษ แก้อักเสบ ลดบวม แก้ตาแดง ตาแฉะ ตาฟาง แก้หืดแก้ ท้องอืดท้องเฟ้อ รักษาสะเก็ดเงิน แก้ บิด แก้ กลากเกลื้อน รักษาหลอดลมอักเสบ แก้ไข้ แก้ระดูขาว รักษามาลาเรีย
  • ส่วนเหนือดิน ลดความดันโลหิต รักษาข้ออักเสบ รักษาตับอักเสบ รักษาโรคหอบ แก้ไข้รักษาปอดอักเสบดอก แก้ไข้ แก้เยื่อบุตาอักเสบ รักษาโรคข้อรูมาตอยด์
  • เมล็ด ขับพยาธิ บำรุงธาตุ แก้ปวดท้อง ท้องอืด แก้ปัสสาวะขัด แก้ไอ รักษาโรคผิวหนังด่างขาว แก้โรคผิวหนังเรื้อรัง แก้พิษ
  • ทั้งต้น แก้ไข้ รักษาตับอักเสบ ลดความดันโลหิต รักษาโรคหอบ แก้ท้องเสียรักษาแผลบวมอักเสบ มีหนอง ช่วยให้คลอดง่าย ทำให้ไม่อยากบุหรี่รักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • รักษาไข้หวัด (มีไข้ ไอ ซึม) ใช้ต้นสด 2 ต้น ต้มกับน้ำ 1 ถ้วย นาน 10-15 นาที กินวันละ 3 เวลาก่อนอาหาร 
  • แก้ฝี ใช้ต้นสดตำพอกบริเวณที่เป็น  
  • แก้ฟกช้ำ ให้นำหญ้าดอกขาว ทั้ง 5 (ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล) ฝาง บัวบก ยาหัว เถาไม้กระเบื้องต้น (แก้มขาว) ต้มรับประทานน้ำ 
  • แก้เหน็บชา แขนขาไม่มีแรง ใช้หญ้าดอกขาวทั้ง 5 กิ่งก้านใบทองพันชั่ง ต้มรับประทานน้ำ แก้ลมอักเสบ
  •  ลำคอมีเสมหะมาก ให้ใช้หญ้าดอกขาวทั้ง 5 มาต้มกิน  
  • รักษาแผลเบาหวาน แก้ปวดข้อ/ปวดเข่า นำหญ้าดอกขาวทั้งต้น และราก 1-2 กำมือ ต้มกับน้ำ 6-8 แก้ว เมื่อยาเดือด ปล่อยให้เดือดกรุ่นไปสัก 5-10 นาที จะได้น้ำยาสีเหลืองแบบชาใช้ดื่มต่างน้ำ หรือจะตากแห้งต้ม หรือชงกินต่างน้ำก็ได้  
  • ยาแก้ผ้ำ (การติดเชื้อมีหนองในเนื้อเยื่อลึก ๆ คล้ายฝีแต่ไม่ใช่ฝี) ใช้หญ้าดอกขาว ต้มเอาไอ รมแผลบริเวณที่เป็น โดยใช้รมวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน หม้อเดิมทั้ง 3 วัน 
  •  เป็นยาแก้พิษ ด้วยการใช้เมล็ดแห้ง 2-4 กรัม นำมาป่นให้ละเอียด ใช้ชงกับน้ำร้อนกิน  ใช้ทั้งต้น 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 4 ถ้วย ใช้ดื่มต่างน้ำชาเป็นยาบำรุงเลือด แก้ตกเลือด  
  • ช่วยบำรุงกำลัง  เมล็ดนำมาป่นให้ละเอียดใช้ชงกับน้ำร้อนกินเป็นยาแก้ไอ ไอเรื้อรัง (เมล็ด) หรือจะใช้รากนำมานำมาต้มเอาน้ำกิน ถ้าเป็นรากสดใช้ 30-60 กรัม ถ้าเป็นรากแห้งใช้ 15-30 กรัม  
  • ใช้เป็นยาขับพยาธิ และขับปัสสาวะ ด้วยการใช้รากสด 30-60 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มเอาน้ำกิน หรือใช้เมล็ดแห้งประมาณ 2-4 กรัม นำมาป่นให้ละเอียดใช้ชงกับน้ำร้อนกิน  
  • ใช้ลดอาการอยากบุหรี่ ด้วยการใช้หญ้าดอกขาวทั้งต้นประมาณ 2-3 ต้น ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มเดือด 10 นาที ใช้กินบ่อย ๆ หรือจะใช้ยาชงจากผงหญ้าดอกขาวรับประทานครั้งละ 2 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิลิตร หลังอาหาร วันละ 3-4 ครั้ง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. พญาวันดี ไตรภพสกุล.รศ.นพ.ฉันชาย  สิทธิพันธุ์.รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาเรื่องการศึกษาประสิทธิผลของสมุนไพรหญ้าดอกขาวชนิดแคปซูลในการเลิกบุหรี่ : มิถุนายน 2554.89 หน้า
  2. ศรินทิพย์ หมื่นแสน.สมุนไพรหญ้าดอกขาว ทางเลือกสำหรับลดความอยากบุหรี่.วารสารเพื่อการวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม.ปีที่24 ฉบับที่ 3. กรกฎาคม-กันยายน 2560 .หน้า 16-20
  3. อรลักษณา แพรัตกุล. องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพของหมอน้อย และแนวทางการพัฒนาตำรับเพื่อใช้ช่วยเลิกบุหรี่. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2553; 8(1).
  4. ดวงรัตน์ เชี่ยวชาญวิทย์. สมุนไพรหญ้าดอกขาว ตัวช่วยสิงห์อมควัน บอกลาบุหรี่. นิตยสารชีวจิต. 2557; 16(372): 54-55
  5. หญ้าละออง(หญ้าดอกขาว).สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. นริศรา แย้มทรัพย์. หญ้าดอกขาว อีกทางเลือกหนึ่งของผู้ต้องการเลิกบุหรี่. จุลสารบุหรี่และ สุขภาพ.2541;8(1):15-16.
  7. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เสือสามขา”.  หน้า 223.
  8. ภาควิชาเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล,บรรณาธิการ.สมุนไพรพื้นบ้าน (5).กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จํากัด.2543.หน้า 72-74.
  9. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. บัญชียาหลักแห่งชาติ. 2559; (2): 277
  10. หญ้าดอกขาว สมุนไพรพื้นบ้านกับคุณสมบัติต้านโรค.พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  11. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หญ้าหมอน้อย”.  หน้า 604.