สะระแหน่
  ชื่อสามัญภาษาไทยสะระแหน่
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษKitchen Mint, Marsh Mint
  ชื่อวิทยาศาสตร์Mentha × villosa Huds.
  ชื่อพ้องMentha × cordifolia Opiz ex Fresen.
  ชื่อวงศ์Lamiaceae
  ชื่อท้องถิ่นหอมด่วน หอมเดือน (ภาคเหนือ), ขะแยะ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), สะระแหน่สวน (ภาคกลาง), มักเงาะ สะแน่ (ภาคใต้)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

สะระแหน่ไทยจัดเป็นไม้ล้มลุกมีลักษณะเป็นลำต้นพร้อมเลื้อย มีเฉพาะรากฝอย ขนาดเล็ก และสั้น ลำต้นสูงประมาณ 15-30 ซม. ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ผิวลำต้นมีสีแดงอมม่วงจนถึงปลายยอด ลำต้นสามารถแตกเหง้าเป็นต้นใหม่จนขยายเป็นกอใหญ่ และลำต้นแตกกิ่งแขนงจำนวนมาก 

ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว และออกเป็นคู่ๆ ตรงข้ามกันบนกิ่ง ลำต้น ใบมีสีเขียว รูปทรงรี กว้างประมาณ 1.5 – 3.5 ซม. และยาวประมาณ 2 – 7 ซม. ผิวใบย่นเป็นลูกคลื่น ขอบใบหยัก ปลายใบมนหรือแหลม 

ดอก ออกเป็นช่อ เหนือซอกใบบริเวณปลายยอด แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกมีสีชมพูอมม่วง ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอกที่เชื่อมติดกันเป็นกรวยตื้น 4 กลีบ ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 4 อัน ส่วนเกสรตัวเมียจะไม่ค่อยพบ 

ผล มีสีดำ ขนาดเล็ก มีรูปผลเป็นรูปกระสวย เปลือกผลเกลี้ยงมัน ทั้งนี้ ผลสะระแหน่มักไม่ติดผลให้เห็นบ่อยนัก เพราะดอกส่วนใหญ่มักจะเป็นหมันเป็นส่วนใหญ่ 

สรรพคุณทั่วไป

  • ช่วยขับเหงื่อ
  • ช่วยลดอาการหืดหอบ
  • แก้ปวดท้อง
  • ช่วยขับลมในกระเพาะลำไส้
  • แก้จุกเสียดแน่น
  • แก้ลดอาการเกร็งของกระเพาะอาหารและลำไส้
  • แก้ปวดบวม
  • ช่วยฆ่าเชื้อโรค
  • แก้ปวดศีรษะ(ขยี้ทา)
  • ใช่ดมแก้ลม
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • แก้พิษแมลงต่อย(ขยี้ทา)
  • แก้ผดผื่นคัน(ขยี้ทา)
  • แก้การอักเสบของแผล(ขยี้ทา)    
  • แก้ซางชักในเด็ก
  • ช่วยให้ผายลมได้ดี
  • ช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
  • ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
  • แก้มุตกิด(ตกขาว หรือ ระดูขาว)
  • ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
  • แก้ฟกบวม
  • ช่วยเสริมระบบทางเดินอาหาร
  • ใช้ลดอาการคัดจมูก

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • รักษาอาการปวดศรีษะ ปวดฟัน เจ็บคอ เจ็บปาก เจ็บลิ้น โดยดื่มน้ำต้มใบสะระแหน่ 5 กรัม กับน้ำ 1 ถ้วย ผสมเกลือเล็กน้อย วันละ 2 ครั้ง 
  • รักษาอาการบิดท้องร่วง อุจจาระเป็นเลือด โดยนำใบสะระแหน่ต้มดื่มแต่น้ำ
  • แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย โดยตำใบสะระแหน่ให้ละเอียด พอกบริเวณที่โดนกัด
  • ช่วยห้ามเลือดกำเดาได้ โดยใช้สำลีชุบน้ำที่คั้นจากใบสะระแหน่ หยอดที่รูจมูก 
  • รักษาอาการปวดหู โดยนำน้ำคั้นจากใบสะระแหน่หยอดหู จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี 
  • รักษาอาการหน้ามือตาลาย โดยรับประทานน้ำต้มใบสะระแหน่และขิงสด 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. http://www.the-than.com/samonpai/sa_2.html 
  2. กฤติยา ไชยนอก.สะระแหน่ฝรั่ง.บทความวิชาการ.จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่27.ฉบับที่1.ตุลาคม.2552.หน้า12-20
  3. สะระแหน่ ผักต่างแดนที่โอนสัญชาติและเปลี่ยนชื่อเป็นไทย.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่218.มิถุนายน.2540
  4. นันทวัน บุณยะประภัศรม อรนุช โชคชัยเจริญพร,บรรณาธิการ.สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 4 . กรุงเทพฯ:บริษัทประชาชน.2543:740 หน้า
  5. ฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของน้ำมันสะระแหน่ฝรั่งต่อกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมในหนูแรท.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ผลของสะระแหน่ญวนต่อระดับฮอร์โมนผู้หญิงขนดก.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. สมาคมสมุนไพรแห่งประเทศไทย.งานนิทรรศการสุมนไพรครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2518:129 หน้า
  8. ฤทธิ์บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยของสะระแหน่ญวน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. สะระแหน่.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/
  10. สะระแหน่.สรรพคุณและการปลูกสะระแหน่.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com