จิก
  ชื่อสามัญภาษาไทยจิก
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษPowderpuff tree, Bottle brush oak
  ชื่อวิทยาศาสตร์Barringtonia racemosa (L.) Spreng.
  ชื่อวงศ์Annonaceae
  ชื่อท้องถิ่นจิกบ้าน (กรุงเทพฯ), ปูตะ (มลายู-นราธิวาส)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    ต้นจิก จัดเป็นไม้พุ่มหรือยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขามากมายรอบ ๆ ต้น มีความสูงได้ประมาณ 2-20 เมตร เปลือกลำต้นมีลักษณะขรุขระเป็นสีน้ำตาลปนเทา ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีน้ำตาลเรื่อถึงสีชมพู มีเส้นใยเหนียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำได้ดี มีแสงแดดรำไรถึงแสงแดดจัด และชอบน้ำมาก มักพบขึ้นได้ตามขอบป่าพรุ หรือในที่ลุ่ม ที่ชื้นแฉะ หรือบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เช่น ตามริมฝั่งแม่น้ำ คูคลอง ตามร่องส่วน เป็นต้น

    ออกใบดก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเรียงเวียนรอบกิ่ง เป็นกระจุกหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ รูปไข่กลีบแกมรูปขอบขนาน หรือรูปหอก ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบแคบ ส่วนขอบใบหยักตื้นมนและละเอียด หรือเป็นจักเล็กน้อยคล้ายกับฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-14 เซนติเมตรและยาวประมาณ 14-36 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียว หลังใบและท้องใบเรียบ เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ ไม่นุ่ม มีก้านใบสั้นและเป็นครีบเล็กน้อย ก้านใบอวบสั้น ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร

    ออกดอกเป็นช่อห้อยลง โดยจะออกที่ปลายยอด ช่อดอกมีความยาวประมาณ 20-70 เซนติเมตร ก้านช่อดอกเป็นสีชมพูและเขียว ลักษณะของช่อดอกคล้ายกับแปรงล้างขวด ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 3-16 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีชมพู ในดอกตูม ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ ปลายกลีบมนและโค้ง กลีบเป็นสีชมพูมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ดอกมีใบประดับเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีประมาณ 2-4 กลีบ ติดกันเป็นเนื้อเดียว มีขนาดเท่ากันหรือไม่เท่ากัน ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กสีชมพูเข้มและมีจำนวนมาก ส่วนโคนเชื่อมติดกัน ก้านเกสรยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร เป็นสีขาว โคนก้านเป็นสีชมพู เรียงเป็นชั้นประมาณ 5-6 ชั้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม (บ้างว่าออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม

    ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ปลายตัดตรง ผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ โคนแคบเกือบเป็นรูปสามเหลี่ยม และผลมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยว ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่ ผิวเมล็ดเป็นร่อง (ในเมล็ดมีสาร Saponin) โดยจะออกผลในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม

สรรพคุณทั่วไป

  • ใช้รักษาเยื่อนัยน์ตาอักเสบ
  • น้ำคั้นจากเมล็ดใช้เป็นยาหยอดตาได้
  • เปลือกใช้เป็นยาลดไข้และใช้รักษาไข้มาลาเรีย
  • จิกน้ํามีสรรพคุณของผลช่วยแก้หวัด แก้ไอ
  • ช่วยแก้อาการไอในเด็ก
  • ช่วยทำให้อาเจียน
  • เมล็ด ใช้เป็นยาขับลม แก้อาการร้อนใน
  • เมล็ดจิกน้ำ ใช้เข้ายาลมช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้องได้เป็นอย่างดี
  • น้ำจากใบช่วยแก้อาการท้องเสีย
  • ใบแก่ใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้อาการท้องร่วง

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “จิกสวน (Chil Suan)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 95.
  2. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “จิกสวน จิกบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [1 มี.ค. 2014].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 188 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “จิก ผักพื้นบ้านดอกงามจากป่าหิมพานต์”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [1 มี.ค. 2014].
  4. PlantZAfrica. “Barringtonia racemosa”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.plantzafrica.com. [1 มี.ค. 2014].
  5. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ, สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “จิกสวน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th. [03 ก.พ. 2014].
  6. หนังสือคู่มือคนรักต้นไม้ ไม้ดอกหอมสีชมพู. (วชิรพงศ์ หวลบุตตา).
  7. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง. “จิกสวน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [1 มี.ค. 2014].
  8. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. “จิกสวน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nectec.or.th. [1 มี.ค. 2014].
  9. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “จิกสวน”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 228-230.
  10. https://pharmacy.su.ac.th/herbmed/herb/text/herb_detail.php?herbID=306