คนทีเขมา
  ชื่อสามัญภาษาไทยคนทีเขมา
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษFive-leaved chaste tree, Chinese chaste, Indian privet, Negundo chest nut
  ชื่อวิทยาศาสตร์Vitex negundo L.
  ชื่อวงศ์Lamiaceae
  ชื่อท้องถิ่นคนทีสอดำ (ภาคเหนือ), คนทิ คนที (ภาคตะวันออก), โคนดินสอ คนดินสอดำ ดินสอดำ ผีเสื้อดำ (อื่น ๆ), กูนิง (มาเลเซีย-นราธิวาส), กุโนกามอ (มาเลเซีย-ปัตตานี), หวงจิง (จีนกลาง), อึ่งเกง (จีนแต้จิ๋ว)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นคนทีเขมา จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 3-6 เมตร ผิวลำต้นเป็นสีเทาปนน้ำตาล กิ่ง ก้าน และใบมีกลิ่นหอม กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีสีเทาและมีขนอ่อนขึ้นปกคลุม รากเป็นสีเหลือง เนื้อในรากเป็นสีขาว พรรณไม้นี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ กิ่งตอน และเพาะเมล็ด มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของอเมริกา และได้แพร่พันธุ์มายังเอเชียตอนใต้ ไปจนถึงญี่ปุ่นและต่อมายังเอเชีย ที่ระดับความสูงประมาณ 200-1,400 เมตร

ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงตรงข้าม มีใบย่อย 5 หรือ 3 ใบ โดย 3 ใบบนจะมีขนาดใหญ่กว่า 2 ใบล่าง ใบบนมีก้าน ส่วนใบล่างไม่มีก้าน ใบมีกลิ่น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบยาวแหลม ส่วนขอบใบเรียบหรือหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีขาว ปกคลุมไปด้วยขนอ่อน

ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีอยู่เป็นจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีขาวแกมม่วงอ่อน กลีบดอกแตกออกเป็น 5 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน มีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย เชื่อมติดกันที่โคน ปลายกลีบล่างแผ่โค้ง กลีบรองดอกเชื่อมกันเป็นถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน

ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปกลม แห้ง เปลือกแข็งเป็นสีน้ำตาล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ติดผลในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน

สรรพคุณทั่วไป

  • ใบใช้เป็นยาบำรุงธาตุ 
  • ยางใช้เป็นยาบำรุงกำลัง 
  • ใบใช้ผสมกับน้ำใช้ทาหน้าผากรักษาอาการปวดศีรษะ หรือนำใบสดมาขยี้ดม ขยี้ปิดที่หน้าผาก ขยี้กับน้ำแล้วเอาลูบหัว ลูบตามตัว ต้มอาบ เอาใบมาชงกิน หรือนำใบแห้งมาสูบก็ได้
  • ใบมีสรรพคุณช่วยแก้อาการหูอื้อ 
  • ใบมีรสหอมร้อน ใช้เป็นยาแก้เยื่อจมูกอักเสบ 
  • ยางมีรสร้อนเมา ใช้ขับเลือดและลมให้กระจาย 
  • รากและก้านใช้เป็นยาแก้พิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยกระจายพิษไข้ในร่างกาย แก้ไอหวัดตัวร้อน 
  • ตำรายาไทยจะใช้รากและใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาลดไข้ แก้ไข้ ส่วนช่อดอกก็มีสรรพคุณเป็นยาลดไข้ด้วยเช่นกัน 
  • ราก ใบ และผลใช้เป็นยาแก้ไอ 
  • ใบช่วยรักษาอาการเจ็บคอ 
  • ราก ใบ และผลใช้เป็นยาขับเสมหะ 
  • รากและก้านใช้รักษาหลอดลมอักเสบ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง 
  • รากมีรสร้อนเมา ใช้เป็นยาขับเหงื่อ แก้ลม 
  • เปลือกต้นมีรสหอมร้อน ใช้เป็นยาแก้ลมเสียดแทง 
  • ช่อดอกมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการท้องเสีย 
  • รากและใบใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง หรือจะใช้เปลือกต้นเป็นยาต้มกินบรรเทาอาการปวดท้องก็ได้
  • เมล็ดช่วยแก้อาหารไม่ย่อย 
  • ใบ ดอก และผลใช้เป็นยาแก้บิด แก้ลำไส้อักเสบ 
  • ใช้รักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือใช้ชงดื่มแทนชาเพื่อป้องกันลำไส้อักเสบ 
  • เปลือกต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้พยาธิด้วยเช่นกัน 
  • รากมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ 
  • ใบ ดอก และผลใช้เป็นยาแก้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ 
  • เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร 
  • รากใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงแห้ง

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  ใบแก้ไข้หวัด เจ็บคอ ปวดศรีษะ
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ใช้เป็นยาบำรุงเลือดลม ด้วยการใช้ผลอย่างเดียว หรือใช้กิ่ง ก้าน ใบ และผล นำมาตากแห้ง ดองกับเหล้ากิน (ผลควรทุบให้แตกก่อนนำมาดอง) ใช้กินครั้งละ 1 เป๊ก หรือประมาณ 30 ซีซี วันละ 1-2 ครั้ง หากกินเป็นประจำจะช่วยทำให้เลือดลมดี ไม่มีสิวมีฝ้า ลดอาการไม่สบายขณะมีประจำเดือนและคนวัยทองได้
  • ใช้เป็นยารักษาไข้หวัด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 30-40 ใบ หรือประมาณ 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 3 เวลา หรือใช้ใบแห้งนำมาสูบแก้หวัดที่มีน้ำมูกไหล ส่วนอีกวิธีให้ใช้ใบสด 30-40 กรัม ผสมกับหอมใหญ่ 8 กรัม และขิงสดอีก 8 กรัม นำไปต้มกับน้ำกิน ส่วนดอกและผลก็มีสรรพคุณรักษาไข้หวัด ไอหวัดด้วยเช่นกัน 
  • ใช้รักษาโรคไข้มาลาเรียหรือไข้ป่า ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 180 กรัม ใส่น้ำให้ท่วมแล้วนำไปต้มโดยใช้ไฟอ่อน ๆ เคี่ยวให้ข้น จนเหลือราว ๆ ถ้วยครึ่ง แล้วแบ่งรับประทานครึ่งหนึ่งก่อนมีอาการ หลังจากกิน ไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ให้กินส่วนที่เหลือ หรือจะใช้รากสดประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินก่อนมีอาการราว ๆ 3 ชั่วโมงก็ได้ ส่วนผลก็มีสรรพคุณรักษาไข้มาลาเรียด้วยเช่นกัน 
  • ใช้รักษาโรคไข้รากสาดน้อยรวมถึงอาการไอ ให้ใช้ผลประมาณ 3-10 กรัม นำมาคั่วโดยอย่าให้ไหม้ เพราะจะทำให้ยาไม่มีฤทธิ์ จากนั้นให้นำมาต้มกิน
  • ใช้รักษาหอบหืด ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 50 ลูก หรือใช้ประมาณ 6-15 กรัม นำมาบดให้เป็นผง ใส่น้ำตาลทรายจำนวนพอควร แล้วนำมาชงกับน้ำกินวันละ 2 เวลา หรือจะใช้เมล็ดประมาณ 6-20 กรัม นำมาบดให้เป็นผง ใส่น้ำตาลเล็กน้อย ชงกับน้ำกินก็ได้
  • รากใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหาร แก้อาการปวดกระเพาะ หรือใช้ผลรักษาอาการปวดท้องโรคกระเพาะ ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 3-10 กรัม นำมาบดให้เป็นผง แล้วปั้นเป็นเม็ดกิน 
  • ใช้รักษากระเพาะอาหารเป็นแผล กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง ปวดกระเพาะ ด้วยการใช้ผลแห้งหรือเมล็ดประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือบดเป็นผงกิน หรือจะใช้รากสดประมาณ 30 กรัม ใส่น้ำตาลแดงพอสมควร ต้มกับน้ำกินก็ได้
  • ใช้รักษาโรคบิดไม่มีตัวลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 30-40 ใบ หรือประมาณ 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 3 เวลา 
  • ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ขับพยาธิเส้นด้าย (พยาธิเข็มหมุด) ด้วยการใช้รากสดประมาณ 30 กรัม นำมาหั่นให้เป็นชิ้นบาง ๆ แล้วนำมาคั่วกับเหล้าให้หวานจนเป็นสีเหลือง ใส่น้ำประมาณ 2 ถ้วย แล้วต้มให้เหลือเพียง 1 ถ้วย นำมาใช้กินก่อนอาหารค่ำ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “คนทีเขมา”.  หน้า 207.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “คนทีเขมา”.  หน้า 202-203.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “คนทีเขมา”.  หน้า 148.
  4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “คนทีเขมา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [24 ม.ค. 2015].
  5. ไทยโพสต์.  “คนที ดูแลสุขภาพผิวรับหน้าร้อน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaipost.net.  [24 ม.ค. 2015].
  6. อภัยภูเบศร.  “คนทีเขมา ผีเสื้อที่ดูแลผู้หญิง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.abhaiherb.com.  [24 ม.ค. 2015].
  7. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “คนทีเขมา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm.  [24 ม.ค. 2015].