พริกขี้หนู
  ชื่อสามัญภาษาไทยพริกขี้หนู
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษChilli Padi, Bird s Eye Chilli, Bird Chilli, Thai pepper,
  ชื่อที่เกี่ยวข้องพริกแด้, พริกแต้, พริกนก, พริกแจว, พริกน้ำเมี่ยง
  ชื่อวิทยาศาสตร์Capsicum frutescens L.
  ชื่อพ้องCapsicum frutescens L., Capsicum frutescens var. frutescens, Capsicum minimum Mill.)
  ชื่อวงศ์Solanaceae
  ชื่อท้องถิ่นพริกแด้ พริกแต้ พริกนก พริกแจว พริกน้ำเมี่ยง (ภาคเหนือ), หมักเพ็ด (ภาคอีสาน), พริก พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า (ภาคกลาง), ดีปลีขี้นก พริกขี้นก (ภาคใต้), พริกมะต่อม (เชียงใหม่), ปะแกว (นครราชสีมา), มะระตี้ (สุรินทร์), ดีปลี (ปัตตานี), ครี (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร), ลัวเจียะ (จีนแต้จิ๋ว), ล่าเจียว (จีนกลาง), มือซาซีซู, มือส่าโพ
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นพริกขี้หนูจัดเป็นไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก ที่มีความสูงของต้นประมาณ 30-90 เซนติเมตร มีอายุประมาณ 1-3 ปี แตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนเหนียว ดินร่วนระบายน้ำดี ในที่ร่มรำไรหรือกลางแจ้ง ไม่ทนต่อสภาพน้ำขัง มักขึ้นร่วมกับวัชพืชชนิดอื่น ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค

ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปกลมรี หรือรูปวงรี ปลายใบแหลม โคนใบเฉียงหรือสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเป็นสีเขียวมันวาว ก้านใบยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร

ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ช่อละประมาณ 2-3 ดอก มีกลีบดอกประมาณ 5-7 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาว สีเหลืองอ่อนอมเขียว หรือสีเขียวอ่อน เกสรเพศผู้จะมีอยู่ประมาณ 5 อัน โดยจะขึ้นสลับกับกลีบดอก ส่วนเกสรเพศเมียจะมีอยู่เพียง 1 อัน (อีกข้อมูลระบุว่า เกสรเพศเมียมี 2 อัน) และมีรังไข่ประมาณ 2-3 ห้อง

ผลมีลักษณะยาวรี ปลายผลแหลม ออกในลักษณะหัวลิ่มลง (แต่โดยปกติแล้วผลอ่อนมักชี้ขึ้น เมื่อแก่แล้วจะชี้ลง) ผลมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลเป็นผลสดสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงหรือเป็นสีแดงปนสีน้ำตาล ลักษณะของผลมีผิวลื่น ภายในผลกลวงและมีแกนกลาง รอบ ๆ แกนจะมีเมล็ดเป็นสีเหลืองเกาะอยู่มาก เมล็ดมีลักษณะแบนเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อนและมีรสเผ็ด เมล็ดมีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร

สรรพคุณทั่วไป

  • ผลมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นทำให้เจริญอาหาร และช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ส่วนยอดพริกและใบอ่อนพริกมีรสเผ็ด ช่วยเจริญอาหาร เพิ่มน้ำลาย และช่วยขับลม 
  • ต้นนำมาสุมให้เป็นถ่านใช้ชงกับน้ำเป็นยาแก้กระษัย 
  • ผลใช้เป็นยาแก้ตานซางซึ่งเป็นโรคที่มักพบได้ในเด็ก โดยมีอาการซูบซีด พุงโร ก้นปอด สันนิษฐานว่าเกิดจากโรคพยาธิในลำไส้ 
  • ผลสุกนำมาปรุงเป็นอาหาร จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากมีสาร capsaicin 
  • ช่วยเร่งการสันดาปและเร่งเมตาบอลิซึม ช่วยใช้แคลอรีให้หมดไป จึงทำให้น้ำหนักลด และช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์และไขมันเลว (LDL) ในสัตว์ทดลองได้ เนื่องจากสาร Capsaicin จะช่วยป้องกันไม่ให้ตับสร้างไขมันเลว (LDL) ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการสร้างไขมันดี (HDL) ทำให้ปริมาณของไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดต่ำลง ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพ
  • พริกสามารถช่วยลดความโลหิตได้ เพราะทำให้หลอดเลือดอ่อนตัวและช่วยทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ด้วยดี 
  • รากพริกขี้หนูมีสรรพคุณเป็นยาฟอกโลหิต 
  • พริกมีสรรพคุณช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยสลายลิ่มเลือด
  • การรับประทานพริกเป็นประจำจะช่วยลดการอุดตันของหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหัวใจล้มเหลวหรือจากการเสียชีวิตจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน เพราะช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ลดความดัน เนื่องจากสารจำพวกเบต้าแคโรทีนและวิตามินซีจะช่วยเสริมสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรง เพิ่มการยืดหดตัวของผนังหลอดเลือด ทำให้ปรับเข้ากับแรงดันในระดับต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น 
  • ช่วยทำให้อารมณ์แจ่มใส โดยสาร Capsaicin ที่มีอยู่ในพริกขี้หนูจะช่วยส่งสัญญาณให้ต่อมใต้สมองสร้างสาร Endorphin ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายกับมอร์ฟีน คือ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด และทำให้อารมณ์แจ่มใส 
  • ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ปวดศีรษะเนื่องมาจากไข้หวัดหรือตัวร้อน ด้วยการใช้ใบพริกขี้หนูสด ๆ นำมาตำผสมกับดินสอพอง แล้วนำมาใช้ปิดบริเวณขมับ 
  • ตำรายาไทยจะใช้ผลซึ่งมีรสเผ็ดร้อนเป็นยาแก้ไข้หวัด ลดน้ำมูก บรรเทาอาการไอ ช่วยขับเสมหะ ทำให้การหายใจสะดวกสบายยิ่งขึ้น ส่วนใบมีสรรพคุณช่วยแก้หวัด 
  • ช่วยสลายเมือกในปอด ทำให้ทางเดินหายใจโล่ง ช่วยป้องกันหลอดลมอักเสบและถุงลมโป่งพอง สาร Capsaicin ที่มีอยู่ในพริกขี้หนูจะช่วยลดน้ำมูกหรือสิ่งกีดขวางต่อระบบการหายใจอันเนื่องมาจากเป็นไข้หวัด ภูมิแพ้ หรือไซนัส 
  • ช่วยรักษาอาการอาเจียน 
  • ใช้แก้อาการเจ็บคอ เสียงแหบ ด้วยการใช้น้ำต้มหรือยาชงพริกขี้หนู ที่เตรียมโดยการใช้พริกขี้หนูป่น 1 หยิบมือ เติมน้ำเดือดลง 1 แก้ว ทิ้งไว้ให้พออุ่น แล้วนำมาใช้กลั้วคอ 
  • รากใช้ฝนกับมะนาวแทรกเกลือ ใช้เป็นยากวาดคอ 
  • ช่วยขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยและช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น 
  • ช่วยรักษาโรคบิด
  • ต้นนำมาสุมให้เป็นถ่านใช้แช่กับน้ำเป็นยาขับปัสสาวะ 
  • ใช้ขับน้ำคาวปลาของสตรี ด้วยการใช้ผงพริกขี้หนู 1 ช้อนโต๊ะ นำมาผสมกับน้ำส้มสายชู 1 ถ้วยชา ใช้กินครั้งละ 1/2-1 ถ้วยชา โดยให้กินครั้งเดียว ส่วนครั้งต่อไปให้ใช้เหล้าแทนน้ำส้มสายชู ใช้กินวันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยขับน้ำคาวปลาให้ตกได้ แต่ถ้าน้ำคาวปลาไม่ตกในสตรีคลอดบุตร จะทำให้มีอาการหน้ามืด จุกแน่นในท้องในอก รู้สึกอึดอัด กัดกรามแน่น ใจคอหงุดหงิด หนาวสั่น หูดับ เป็นลมหลับไป หากแก้ไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ สำหรับผงถ่านนั้นได้จากการนำพริกขี้หนูแห้ง 1 กำมือ ใส่ลงในกระทะตั้งไฟจนควันขึ้น จุดไม้ขีดแหย่ลงไป แล้วพริกขี้หนูจะติดไฟ ทิ้งไว้สักพักพริกขี้หนูจะไหม้ดำเป็นถ่านหมด แล้วจึงตักออกมาจากกระทะใส่จาน หากะลาหรือถ้วยมาครอบพริกเผาเอาไว้จนไฟดับหมด เสร็จแล้วให้นำมาบดให้ละเอียด ก็จะได้ผงถ่านพริกขี้หนูตามต้องการ (ห้ามกินยานี้ก่อนการคลอดบุตร เพราะทำให้คลอดลูกไม่ออก และอาจทำให้ถึงตายได้) 
  • ใบมีสรรพคุณช่วยแก้อาการคัน 
  • ช่วยป้องกันการเป็นผื่นแดงเนื่องจากแพ้อากาศเย็น 
  • ใช้รักษาแผลสดและแผลเปื่อย ด้วยการใช้ใบพริกขี้หนู นำมาตำพอกรักษาแผลสดและแผลเปื่อย แต่อย่าใช้ปิดแผลมากจนเกินไป เพราะทำให้ร้อน 
  • ผลมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคหิด กลากเกลื้อน 
  • พริกขี้หนูมีสารต้านแบคทีเรียและอนุมูลอิสระ 
  • หากมดคันไฟกัด ให้ใช้ใบหรือดอกพริกขี้หนู นำมาถูบริเวณที่ถูกกัด 
  • ใช้เป็นยาแก้พิษตะขาบและแมงป่องกัด ด้วยการใช้ผลพริกขี้หนูแห้ง นำมาตำให้เป็นผงละลายกับน้ำมะนาว ใช้ทาบริเวณที่กัด อาการเจ็บปวดจะหายไป 
  • ใช้รักษาอาการบวม ฟกช้ำดำเขียว ปวดตามข้อ เคล็ดขัดยอก ช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ด้วยการใช้พริกขี้หนูแก่สีแดงตากแห้ง แล้วนำมาบดให้เป็นผงละเอียด เทลงในวาสลินที่เคี่ยวจนเหนียว กวนให้เข้ากัน แล้วนำไปเคี่ยวอีกจนได้กลิ่นพริก ใช้เป็นยาทาถูเพื่อรักษาอาการเคล็ด ฟกช้ำดำเขียว และอาการปวดตามข้อ โดยให้ทาบริเวณที่เป็นวันละ 1-2 ครั้ง ส่วนการนำมาใช้เป็นยาแก้บวมอีกวิธี จากข้อมูลระบุให้ใช้ใบพริกขี้หนูนำมาบดผสมกับน้ำมะนาว ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่มีอาการบวม 
  • ใช้รักษาอาการปวดตามเอวและน่อง ด้วยการใช้ผงพริกขี้หนูและวาสลิน หรือผงพริก วาสลิน และแป้งหมี่ เติมเหล้าเหลืองพอประมาณ แล้วคนให้เข้ากันจนเป็นครีม ก่อนนำมาใช้ให้ทาลงบนกระดาษแก้วปิดบริเวณที่ปวด แล้วใช้ปลาสเตอร์ปิดโดยรอบ หลังจากนั้นจะมีอาการทำให้เหงื่อออก ทำให้การเคลื่อนไหวคล่องแคล่วขึ้น และจะรู้สึกหายปวด เนื่องจากบริเวณที่พอกยาจะมีความรู้สึกร้อน การไหลเวียนของโลหิตเพิ่มขึ้น 
  • ใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามตัว ขับลมชื้นตามร่างกาย ด้วยนำผลพริกขี้หนูแห้งมาแช่ในแอลกอฮอล์ 90% ในปริมาณ 1,000 ซีซี นาน 2 สัปดาห์ แล้วใช้สำลีชุบน้ำยาทาบริเวณที่เป็น 
  • ใช้เป็นยาช่วยลดอาการปวดบวมอันเนื่องจากลมชื้นหรือจากความเย็นจัด ด้วยการใช้ผงพริกขี้หนูแห้งนำมาทำเป็นขี้ผึ้งหรือสารละลายแอลกอฮอล์ แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่มีอาการปวด 
  • ผลมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคเกาต์ ใช้ภายนอกเป็นยาทาถูนวดเพื่อช่วยลดอาการไขข้ออักเสบ ลดอาการปวดบวม 
  • ส่วนต้นหรือรากพริกขี้หนูมีสรรพคุณเป็นยาแก้เส้นเอ็นพิการ แก้ปวดเมื่อยตามตัว แก้ปวดบวม 
  • สารสกัดจากพริกใช้เป็นยาทาถูนวดรักษาอาการตะคริวได้ เพราะพริกจะช่วยทำให้บริเวณผิวที่ทามีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น และกระตุ้นทำให้บริเวณที่ทารู้สึกร้อน 
  • ใช้แก้เท้าแตก ด้วยการใช้พริกขี้หนูทั้งต้นและปูนขาว อย่างละพอสมควร เอาไปต้ม แล้วเอาน้ำที่ได้มาแช่เท้าที่แตก ถ้าไม่หายก็ให้เอาต้นสลัดไดและรากหนอนตายหยากใส่ลงไปด้วย 
  • แก้ปลาดุกยัก ด้วยการใช้พริกขี้หนูสด ขยี้ตรงที่ปลาดุกแทงจะหายปวด เมื่อขยี้แล้วจะรู้สึกเย็น ไม่บวมและไม่ฟกช้ำด้วย 
  • ช่วยกระตุ้นให้ผมงอก

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

ใช้ส่วนผลมารับประทาน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “พริกขี้หนู”.  หน้า 113-114.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “พริกขี้หนู Cayenne Pepper”.  หน้า 72.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “พริกขี้หนู”.  หน้า 535-538.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “พริก”.  หน้า 368.
  5. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “พริกขี้หนู”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [26 ส.ค. 2014].
  6. สารศิลปยาไทย ฉบับที่ ๑๘, สมาคมผู้ประกอบโรคศิลปแผนไทย (เชียงใหม่).  “พริกขี้หนู”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.oocities.org/thaimedicinecm/.  [26 ส.ค. 2014].
  7. ไทยเกษตรศาสตร์.  “พริกขี้หนู สรรพคุณทางยา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [26 ส.ค. 2014].
  8. รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  “ไผ่และพริก”.  บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2546.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th.  [26 ส.ค. 2014].
  9. หนังสือพิมพ์มติชนบทเทคโนโลยีชาวบ้าน ฉบับที่ 452, วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2552.  “เจาะตลาด”.  (ประสิทธิ์ศิลป์ ชัยยะวัฒนะโยธิน).
  10. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 305 คอลัมน์ : เรื่องเด่นจากปก.  (ดร.พัชราณี ภวัตกุล).  “พริกขี้หนู กับปัจจัยเสี่ยง ของโรคหัวใจและหลอดเลือด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [26 ส.ค. 2014].
  11. หนังสืออาหารจากสมุนไพร อร่อย สุขภาพดี.  (จำลองลักษณ์ หุ้นชิ้น, จิรนาฏ วีรชัยพิเชษฐ์กุล, รุ่งทิพย์ พรหมทรัพย์, อภิสิทธิ์ ประสงค์สุข).  “พริกขี้หนู”.