มะเดื่อปล้อง
  ชื่อสามัญภาษาไทยมะเดื่อปล้อง
  ชื่อที่เกี่ยวข้องเดื่อสาย
  ชื่อวิทยาศาสตร์Ficus hispida L.f.
  ชื่อพ้องFicus oppositifolia Roxb.
  ชื่อวงศ์Moraceae
  ชื่อท้องถิ่นเดื่อป่อง (นครราชสีมา กรุงเทพมหานคร), เดื่อปล้อง (นครศรีธรรมราช สระบุรี ภาคเหนือ), เดื่อสาย (เชียงใหม่), ตะเออน่า เอาแหน่ (แม่ฮ่องสอน), มะเดื่อปล้อง (ภาคกลาง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะเดื่อปล้อง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูงได้ถึง 12 เมตร ไม่ผลัดใบ หรือกึ่งผลัดใบ ลำต้นตั้งตรงเปลือกหนา เปลือกต้นสีเทาปนดำ ต้นและกิ่งมีลักษณะเป็นข้อปล้องชัดเจน คล้ายรอยขวั้นเป็นข้อๆ ตลอดถึงกิ่งกิ่งอ่อนกลวง ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวขุ่น 

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่แกมขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง 5 - 13 ซม. ยาว 11 - 28 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบมีซี่หยักละเอียดโดยเฉพาะครึ่งปลายบน เนื้อใบคล้ากระดาษ ผิวใบด้านบนมีขนสากปกคลุม ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่ม ใบแก่มีขนหยาบๆและบนเส้นใบด้านล่าง เส้นใบข้างโค้ง 5 - 9 คู่ เส้นใบที่ฐานยาว 1/5 ของใบ ก้านใบยาว 1.5 - 4 ซม. มีต่อมเป็นปม มีหูใบยาว 1 - 2.5 ซม.หลุดร่วงง่าย กิ่งก้านอ้วนสั้น ลำต้นอ่อนกลวง 

ดอก ออกเป็นช่อแบบชนิดช่อมะเดื่อ (syconium) ตามกิ่งและลำต้น อาจพบออกตามโคนต้น หรือตามกิ่งที่ห้อยลงไม่มีใบ กิ่งใหญ่ๆอาจยาวได้ถึง 1.5 เมตร บางครั้งเลื้อยไปตามพื้นดิน หรือพบบ้างที่เกิดตามง่ามใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็กอัดกันแน่น เจริญอยู่บนฐานของดอกที่ห่อหุ้มไว้มีลักษณะคล้ายผล ภายในกลวง ที่ปลายมีช่องเปิดที่มีใบประดับปิดอยู่ และมีก้านช่อดอกยาว ดอกอ่อนสีเขียว ดอกแก่สีเหลือง ที่โคนมีใบประดับ 3 ใบ ยาว 1 - 1.5 มิลลิเมตร รูปสามเหลี่ยม ภายในมีดอก 3 ประเภทคือ ดอกเพศผู้ ดอกเพศเมีย และดอกปุ่มหูด ดอกเพศผู้มี 1 - 2 แถว กลีบรวมจักเป็น 3-4 พู ปลายมีขน เกสรเพศผู้มี 1 อัน ดอกปุ่มหูดไม่มีก้าน กลีบรวมปกคลุมรังไข่ ดอกเพศเมียมีหรือไม่มีก้าน กลีบรวมเชื่อมติดกันคล้ายปลอกหรือท่อสั้นๆ 

ผล ชนิดผลแบบมะเดื่อ กลมแป้น รูปลูกข่าง ติดเป็นกลุ่มแน่น 10-15 ผล ผลอ่อนสีเขียว แบบมะเดื่อ เมื่อแก่สีเหลือง ผลมีขนาด 2.5-4 ซม. รูปลูกข่าง แคบที่ฐาน ยอดผลแบนหรือบุ๋ม มีเส้นสัน 7-9 เส้น แผ่รอบๆจากยอด มีขนอ่อนนุ่ม และเกล็ดปกคลุมห่างๆ ก้านผลยาว 0.6-2.5 ซม. มีกาบรูปสามเหลี่ยม 3 กาบ เป็นช่อยาวตามแนวของกิ่ง ห้อยลงจากลำต้นและกิ่งใหญ่ๆ พบตามป่าดิบแล้ง ป่าโปร่ง ป่าละเมาะ ริมลำธาร ออกดอกราวเดือนมกราคมถึงมีนาคม ติดผลเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม

สรรพคุณทั่วไป

  • ผล มีรสขม เป็นยาเย็น แก้กระหายน้ำ ฝาดสมาน แก้บิด แก้บวมอักเสบ เป็นยาพอก ใช้ล้างแผล สมานแผลขับน้ำนม แก้โรคผิวหนังเรื้อรัง โรคโลหิตจาง ริดสีดวงทวาร โรคตัวเหลือง เลือดกำเดาไหล อาการปวดกระเพาะ ไข้จับสั่น 
  • ผลแห้ง รักษาแผลในปาก ทำให้อาเจียน (กินผลดิบทำให้วิงเวียนได้) 
  • ใบ ต้มน้ำดื่ม รักษาอาการไข้หลังคลอดบุตร หนาวสั่น ปัสสาวะเหลืองหรือเป็นเลือด ใส่แผลฝี แผลในจมูกแผลหนองอักเสบ 
  • ราก ลำต้น เหง้า ต้มน้ำดื่ม กระตุ้นการหลั่งน้ำนม แก้หวัด 
  • รากและเปลือกต้น รสฝาดเฝื่อน ใช้ตำทาแก้ฝี แก้เม็ดผื่นคันตามผิวหนัง กินแก้พิษในกระดูก กล่อมเสมหะ แก้ท้องเสีย แก้ประดง 
  • เปลือกต้น ผล เมล็ด มีฤทธิ์ทำให้อาเจียน เป็นยาทำให้อาเจียน ยาระบาย ยาพอกฝีมะม่วง ยาบำรุงแก้มาลาเรีย แก้ปวดท้องในเด็ก รักษาสิวฝ้า กระดูกแตกหัก ใช้ทำเชือกหยาบๆ 
  • ลำต้น มีรสเฝื่อนฝาด แก้เม็ดฝี และกินแก้พิษในกระดูก 
  • ช่อดอกและผลอ่อน รับประทานเป็นผักสดหรือต้มจิ้มน้ำพริก และนำมาปรุงอาหารจำพวกแกงส้ม 
  • ใบอ่อน รับประทานได้ 
  • ผลสุก ทำแยม

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

1.ผลใช้รับประทานได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก เนื่องจากมักมีแมลงมาอาศัยอยู่ข้างในผล และมีบ้างที่ใช้ผลสุกนำมาทำแยม 2.ใบอ่อนใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ส่วนช่อดอกและผลอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดหรือต้มจิ้มกับน้ำพริก นำมาปรุงอาหารจำพวกแกงส้ม 3.ผลดิบใช้รับประทานกับแกงบอนหรือหลามบอน หรือนำไปประกอบอาหารโดยการหลามกับกระดูกหมู ชาวลั้วะจะใช้ยอดอ่อนนำมาต้มเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงหมู 4.เปลือกต้นใช้ทำเชือกหยาบ ๆ 5.เนื้อไม้ใช้สำหรับทำฟืน (ลั้วะ)
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “มะเดื่อปล้อง (Ma Duea Plong)”. หน้า 220. 
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “มะเดื่อปล้อง”. หน้า 153. 
  3. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “มะเดื่อปล้อง”. หน้า 112. 
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “มะเดื่อปล้อง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [03 พ.ย. 2014]. 
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “มะเดื่อปล้อง, เดื่อปล้อง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 7 (ก่องกานดา ชยามฤต, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [03 พ.ย. 2014]. 
  6. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “มะเดื่อปล้อง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bedo.or.th. [03 พ.ย. 2014]. 
  7. ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา. “พืชมีพิษในประเทศไทย (1)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/ez.mm_display.asp. [03 พ.ย. 2014].