เปราะป่า
  ชื่อสามัญภาษาไทยเปราะป่า
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษPeacock ginger, Resurrection lily
  ชื่อวิทยาศาสตร์Kaempferia marginata Carey
  ชื่อวงศ์Zingiberaceae
  ชื่อท้องถิ่นตูบหมูบ ว่านตูบหมูบ (อุบลราชธานี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), เปราะเถื่อน (ปราจีนบุรี, ชุมพร), เปราะ หัวหญิง (กระบี่), เปราะเขา เปราะป่า
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เปราะป่าเป็นพืชลงหัว ขนาดเล็ก สูง 3-5 เซนติเมตร มีเหง้าสั้น รากเป็นกระจุก ใบเป็นใบเดี่ยว ใบอ่อนม้วนเป็นกระบอกตั้งขึ้น ใบแก่แผ่ราบบนหน้าดิน ไม่มีก้านใบ ต้นหนึ่งมักมี 2 

ใบ ใบทรงกลมโต หรือรูปรี กว้าง 8-14 เซนติเมตร ยาว 5-11.5 เซนติเมตร มีสีเขียวเข้ม ขอบใบมีสีม่วงแดง ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม ผิวบนเรียบ ด้านล่างมีขน กาบใบยาวราว 5 เซนติเมตร กาบใบที่ไม่มีใบยาวราว 3 เซนติเมตร ลิ้นใบรูปสามเหลี่ยม ยาวราว 4 มิลลิเมตร 

ช่อดอกแทงออกตรงกลางระหว่างกาบใบทั้งสอง กลีบดอกเป็นหลอดยาวราว 4 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นกลีบ รูปแถบ กลีบหลังยาว และกว้างกว่ากลีบข้าง กลีบหลังกว้างราว 0.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 เซนติเมตร กลีบข้างกว้างราว 0.3 เซนติเมตร ยาวราว 2.4 เซนติเมตร ดอกสีขาว กลีบดอกบอบบาง มีดอกย่อย 6-8 ดอก ใบประดับสีขาวอมเขียว รูปใบหอก กว้างราว 1 เซนติเมตร ยาวราว 3.2 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ที่เป็นหมันสีขาว รูปไข่กลับแกมรูปลิ่ม กว้างราว 1 เซนติเมตร ยาวราว 2 เซนติเมตร กลีบปากสีม่วง มีแถบสีขาวระหว่างเส้นกลางกลีบกับขอบกลีบ รูปไข่กลับแกมรูปลิ่ม กว้างราว 1.8 เซนติเมตร ยาวราว 2.2 เซนติเมตร ปลายหยักลึกมาก เกสรตัวผู้เกือบไม่มีก้าน หรือมีก้านยาวราว 1 มิลลิเมตร อับเรณูยาวราว 4 มิลลิเมตร รังไข่ขนาดกว้างราว 2 มิลลิเมตร ยาวราว 4 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นหลอดยาว ราว 2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 2 แฉก 

ผลรูปไข่ สีขาว แตกเป็น 3 พู เมล็ดทรงรูปไข่ สีน้ำตาล ชอบขึ้นตามดิน หรือเกาะอยู่ตามโขดหิน เกิดตามที่ลุ่มชื้นแฉะในป่าเบญจพรรณทั่วไป

สรรพคุณทั่วไป

  • หัวหรือเหง้าใต้ดินใช้ผสมกับตัวยาอื่นเพื่อเข้าตำรับยา ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ 
  • ใช้เป็นยาแก้ไข้ 
  • ช่วยแก้หวัด โดยใช้หัวตำผสมกับหัวหอม ใช้สุมกระหม่อมเด็กจะช่วยบรรเทาอาการได้ 
  • ช่วยแก้อาการไอ 
  • ช่วยแก้กำเดา โดยใช้หัวตำผสมกับหัวหอม ใช้สุมกระหม่อมเด็ก
  • ดอกเปราะป่าช่วยแก้อาการอักเสบตาแฉะ 
  • ใช้รักษาเด็กที่ชอบนอนผวาตาเหลือกช้อนดูหลังคา 
  • น้ำคั้นจากใบและเหง้านำมาใช้ป้ายคอ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้
  • หัวมีสรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะ 
  • ช่วยขับลมในลำไส้ 
  • ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ 
  • ใช้เป็นยาขับโลหิตที่เน่าเสียของสตรี 
  • ใช้เป็นยากระทุ้งพิษต่าง ๆ 
  • ช่วยแก้ลมพิษ ผดผื่นคัน ช่วยรักษาเลือดที่เจือด้วยลมพิษ 
  • ใบเปราะป่าช่วยแก้เกลื้อนช้าง 
  • หัวหรือเหง้าใต้ดินนำมาตำพอกแก้อาการอักเสบอันเนื่องมาจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย 
  • หัวมีกลิ่นหอม ให้รสร้อนและขมจัด ใช้สำหรับทำเป็นลูกประคบ เพื่อช่วยแก้อาการฟกช้ำได้ 
  • หัวใช้ผสมกับใบหนาดใหญ่ ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อัมพาต

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ประโยชน์เปราะป่า เปราะป่าสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเทศและเป็นเครื่องยาสมุนไพร 
  • ใบอ่อนสดที่ม้วนอยู่ใช้รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกได้ หรือนำมาใช้ทำเป็นผักเครื่องเคียงกับขนมจีนหรือข้าวยำ ให้รสชาติร้อนซ่าเล็กน้อย 
  • ปัจจุบันพบว่ามีการนิยมปลูกทั่วไปตามบริเวณบ้าน โดยการนำมาปลูกในกะละมัง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เปราะป่า“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [18 พ.ย. 2013].
  2. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เปราะป่า“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [18 พ.ย. 2013].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “Kaempferia marginata Carey“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [18 พ.ย. 2013].
  4. โปงลางดอตคอม.  “ว่านเปราะป่า“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pongrang.com.  [18 พ.ย. 2013].
  5. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ผักพื้นบ้าน เปราะป่า“.  อ้างอิงใน: หนังสือผักพื้นบ้านภาคใต้ (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [18 พ.ย. 2013].
  6. บล็อกโอเคเนชั่น.  “เปราะ ผักพื้นบ้าน เมนูสุขภาพ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.oknation.net.  [18 พ.ย. 2013].