บัวบก
  ชื่อสามัญภาษาไทยบัวบก
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษAsiatic pennywort, Gotu kola , Indian pennywort , Woter pennywort
  ชื่อที่เกี่ยวข้องผักแว่น ผักหนอก
  ชื่อวิทยาศาสตร์Centella asiatica (Linn.) Urban.
  ชื่อวงศ์Apiaceae
  ชื่อท้องถิ่นใบบัวบก (ภาคกลาง) ผักหนอก จำปาเครือ (ภาคเหนือ) ปะหะ เอขาเด๊าะ (กะเหรี่ยง) แว่นโคก (อีสาน) ผักแว่น (ภาคใต้) เดียกำเช่า ฮมคัก (จีน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

บัวบกเป็นไม้ล้มลุก อยู่ในจำพวกผัก ประเภทเลื้อย มีลำต้นเลื้อยไปตามดินที่ชื้นแฉะ เรียกว่า ไหล มีรากงอกออกตามข้อของลำต้น 
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบงอกเป็นกระจุกออกจากข้อ ข้อละ 2-10 ใบ ลักษณะใบรูปไต รูปร่างกลม ฐานใบโค้งเว้าเข้าหากัน ขอบเป็นคลื่นหยักเล็กน้อย แผ่นใบสีเขียวมีขนเล็กน้อย ก้านใบสีเขียวยาว 

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อซี่ร่มตามซอกใบ มีประมาณ 2-5 ช่อ ช่อหนึ่งมีดอกย่อยประมาณ 4 – 5 ดอก ดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกมี 5 กลีบ สีม่วงเข้มอมแดงสลับกัน ก้านช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 0.5-5 ซม. ริ้วประดับจะมีประมาณ 2-3 ใบ เกสรตัวผู้นั้นจะสั้น 

ผล เป็นผลแห้งแตก ลักษณะแบน มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ 3-4 มม. เมล็ดสีดำ

สรรพคุณทั่วไป

  • ใบ ลดอาการอักเสบบวม แก้ปวดท้อง แก้ดีซ่าน แก้บิด ใบสดต้มกับน้ำซาวข้าวดื่มแก้นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ มีสาร Asiaticoside ทำยาทาแก้แผลโรคเรื้อน 
  • ต้น บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือมีการชอกช้ำจากการกระแทก แก้พิษงูกัด ปวดศีรษะข้างเดียว ขับปัสสาวะ แก้เจ็บคอ เป็นยาห้ามเลือด ส่าแผลสด แก้โรคผิวหนัง ลดความดัน แก้ช้ำใน 
  • เมล็ด แก้บิด แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ 
  • ทั้งต้น บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้ช้ำใน แก้อ่อนเพลีย ขับปัสสาวะ รักษาบาดแผล แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้โรคปวดศีรษะข้างเดียว (ไมเกรน) แก้โรคเรื้อน แก้กามโรค แก้ตับอักเสบ

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ช่วยรักษาโรคดีซ่านจากภาวะร้อนชื้น ด้วยการใช้บัวบก 30 กรัม น้ำตาลทรายกรวด 30 กรัม ต้มน้ำดื่ม 
  • ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการใช้ต้นสด 1 กำมือต้มกับน้ำแล้วนำมาดื่ม 
  • หรือจะใช้บัวบกสด ๆ ทั้งต้นประมาณ 30 กรัมนำมาค้นเอาน้ำ เติมน้ำตาลเล็กน้อยแล้วดื่มกินประมาณ 5-7 วัน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. บัวบก. (มปป.)สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2560, จากhttp://www.samunpri.com/บัวบก 
  2. อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 244. "Pharmacological Review on Centella asiatica: A Potential Herbal Cure-all". Indian J Pharm Sci: 546–56. September 2010. 
  3. พงศ์ศักดิ์ รัตนชัยกุลโสภณ และ ปาริชาติ พุ่มขจร. 2553. การใช้สมุนไพรในการป้องกันและรักษาโรคในปลา วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีที่12 ฉบับที่4 กรกฎาคม 2553 63 -71
  4.  อัฐญาพร ชัยชมภู และนฤมล ทองไว. 2554. การยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรคบางชนิดโดยใช้สารสกัดสมุนไพรพื้นบ้าน. การประชุมวิชาการครั้งที่ 8 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน 
  5. จินดาพร คงเดช. 2551. การผลิตสารยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส และสารต้านอนุมูลอิสระจากพืชเพื่อใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 
  6. นิดดา หงษ์วิวัฒน์. บัวบก อาหารบำรุงสมอง. ครัว. ปีที่ 18 ฉบับที่ 212 เดือนกุมภาพันธ์ 2555 หน้า 18-26 
  7. เมฆานี จงบุญเจือ และสมพิศ คลี่ขยาย. อาหารปักษ์ใต้ บ้าบ๋า ย่าหยาในอันดามัน. กทม. เศรษฐศิลป์ 2556 เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ไม้มีพิษ. กทม. เศรษฐศิลป์. 2552