นมแมว
  ชื่อสามัญภาษาไทยนมแมว
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษRauwenhoffia siamensis
  ชื่อวิทยาศาสตร์Rauwenhoffia siamensis Scheff.
  ชื่อพ้องMelodorum siamense (Scheff.) Bân
  ชื่อวงศ์Annonaceae
  ชื่อท้องถิ่นน้ำจ้อย (ยโสธร), ตราแป (มลายู)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นนมแมว จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยไม่ผลัดใบ เลื้อยไปได้ไกลประมาณ 2-5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านได้มาก เกิดเป็นพุ่มใหญ่ ๆ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมสีเหลือง เนื้อไม้มีความเหนียวมาก กิ่งอ่อนมีขนลักษณะเป็นรูปดาวสีน้ำตาลขึ้นอยู่หนาแน่น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง ควรปลูกในพื้นที่ชื้น เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ชอบน้ำปานกลาง และแสงแดดปานกลางถึงร่มรำไร ต้นนมแมวเป็นพืชเฉพาะถิ่น มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักพบขึ้นในป่าดิบ ตามชายป่าชื้น และตามป่าเบญจพรรณทางภาคกลางและภาคใต้ 

ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-22.5 เซนติเมตร 

ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบใกล้บริเวณปลายยอด กลีบดอกหนา มีกลีบ 6 กลีบ เรียงกันเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 ดอก มีขนปกคลุม กลีบนอกเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.3 เซนติเมตร ส่วนกลีบในคล้ายกับกลีบนอก แต่จะมีขนาดเล็กกว่า กลีบดอกเป็นสีเหลืองนวลและมีกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ ดอกจะส่งกลิ่นหอมในช่วงเย็น และมีกลิ่นหอมแรงในเวลากลางคืน ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมากเบียดกันแน่นเป็นกระจุก ส่วนกลีบเลี้ยงหรือกลีบรองดอกเป็นสีเขียวมี 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือเป็นรูปไข่กว้าง ปลายมน มีขนาดประมาณ 4-5 มิลลิเมตร มีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่จะให้ดอกดกที่สุดในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 

ออกผลเป็นกลุ่ม ในแต่ละกลุ่มจะมีผลย่อยประมาณ 8-15 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี และมีตุ่มปลายผลคล้ายกับเต้านมของแมว ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลเมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง เปลือกผลนิ่ม มีกลิ่นหอม ใช้รับประทานได้โดยจะมีรสหวาน และภายในผลมีเมล็ดประมาณ 6-8 เมล็ด

สรรพคุณทั่วไป

ราก ตำผสมน้ำปูนใสทา แก้พิษแมลงกัดต่อย ต้มน้ำดื่ม แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ รากนมแมวผสมรากไส้ไก่ และรากหนามพรม ต้มน้ำดื่ม แก้ริดสีดวงจมูก
 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • คนสมัยก่อนจะใช้ยอดใบอ่อนประมาณ 5-7 ใบผสมกับน้ำปูนขาวและน้ำ แล้วขยี้ส่วนผสมทั้งหมดจนแตกเป็นเนื้อละเอียดจนเป็นฟองสีเหลือง แล้วนำมาทาบริเวณท้อง จะช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อในเด็กเล็กได้ 
  • ตามความเชื่อของคนโบราณจะใช้ยอดใบอ่อนประมาณ 5-7 ใบนำมาผสมกับน้ำปูนขาวและน้ำพอประมาณ แล้วขยี้เป็นเนื้อละเอียดแตกเป็นฟองสีเหลือง ใช้ทารอบเต้านม จะช่วยทำให้เด็กที่หย่านมยาก หย่านมได้ เพราะใบอ่อนของต้นนมแมวนั้นมีรสขม ซึ่งทำให้เด็กไม่ชอบ และทำให้หย่านมได้ง่าย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “นมแมว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [26 มี.ค. 2014].
  2. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5.  “นมแมว”.  (วีระชัย ณ นคร).
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 282 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  “นมแมว ความหอมอย่างไทยที่น่าดมและดื่มกิน”.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [26 มี.ค. 2014].
  4. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “นมแมว”.  (นพพล เกตุประสาท).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [26 มี.ค. 2014].
  5. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “นมแมว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [15 ก.พ. 2014].
  6. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, กระทรวงวัฒนธรรม.  “ต้นนมแมว (ต้นตราแป)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.m-culture.in.th.  [26 มี.ค. 2014].
  7. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ต้นนมแมว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [26 มี.ค. 2014].
  8. วิชาการดอทคอม.  “สมุนไพรเด้อคับ”.  (pharmaceutical scientist).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.vcharkarn.com.  [26 มี.ค. 2014].