หญ้าแพรก
  ชื่อสามัญภาษาไทยหญ้าแพรก
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษBermuda grass, Bahana grass, Creeping-cynodon, Dub grass, Dog’s tooth grass, Florida grass, Scutch grass, Lawn grass, Wire grass
  ชื่อวิทยาศาสตร์Cynodon dactylon (L.) Pers.
  ชื่อวงศ์Poaceae
  ชื่อท้องถิ่นหญ้าแผด (ภาคเหนือ), หญ้าเป็ด (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), หนอเก่เค (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ทิซั่วเช่า (จีน), สทฺทล (สัด-ทะ-ละ) , สทฺทโล (สัด-ทะ-โล) , หริต (หะ-ริ-ตะ)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นหญ้าแพรก มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียและยุโรป เจริญเติบโตได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนและอากาศอบอุ่น โดยจัดเป็นพรรณไม้จำพวกหญ้า ต้นมีขนาดเล็ก มีอายุได้หลายปี ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาปกคลุมดิน เจริญเติบโตแบบแผ่ราบไปตามพื้นดินหรือเลื้อยปกคลุมดินไปได้ยาวประมาณ 1 เมตร และลำต้นชูตั้งขึ้นสูงประมาณ 10-30 เซนติเมตร ลักษณะของลำต้นเป็นข้อและมีรากงอกออกมา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด กิ่ง ราก และแตกลำต้นไปตามพื้นดิน เจริญเติบเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ต้องการความชื้นในปริมาณค่อนข้างมาก หญ้าชนิดนี้มักพบขึ้นเองตามพื้นที่แห้งแล้ง ที่ว่างริมถนน หรือในบริเวณสนามหญ้า ทนน้ำท่วมทังและสามารถขึ้นได้ในดินเค็ม ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 40-400 เมตร ใบจะออกเป็นกระจุกตามข้อของลำต้น โดยจะออกตรงข้ามกัน 

ลักษณะของใบเป็นรูปเส้นยาวหรือรูปใบหอกเรียว ปลายใบแหลมยาว โคนใบมีขนสั้น ๆ สีขาวก่อนถึงส่วนที่หุ้มรอบข้อ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1-6 เซนติเมตร 

ออกดอกเป็นช่อกระจะ ในช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 3-6 ช่อย่อย ก้านช่อดอกร่วมยาวได้ประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร ช่อดอกย่อยมีลักษณะเป็นเส้นสีเขียวเทาถึงสีม่วง ยาวได้ประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีดอกย่อยเรียงกันเป็นแถว 2 แถว ดอกย่อยมีขนาดยาวประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร อัดกันแน่นอยู่บนด้านหนึ่งของก้านดอกย่อย ดอกมีเกสรเพศผู้ 3 อัน มีอับเรณูสีม่วงยาว 1.1-5 มิลลิเมตร ส่วนรังไข่มีก้านเกสรเพศเมีย 2 เส้น ส่วนปลายเป็นฝอยลักษณะคล้ายขนนก สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี เมื่อดอกร่วงจะติดผล 

ผลหรือเมล็ดจะมีขนาดเล็กมาก ยาวได้ประมาณ 11.5 มิลลิเมตร มีลักษณะเป็นรูปไข่ สีน้ำตาลไปจนสีแดง

สรรพคุณทั่วไป

  • ช่วยแก้โรคเบาหวาน 
  • ทั้งต้นมีรสขม ชุ่มเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ใช้เป็นยาแก้ลมชัก ตรากตรำทำงานหนัก 
  • ใช้เป็นยาแก้ไข้ ด้วยการใช้ลำต้นสดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน 
  • ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้หัว รวมถึงเหือดหัด และอีสุกอีใส 
  • ทั้งต้นใช้ต้มกินเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ 
  • ใช้เป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือด 
  • ช่วยขับลม 
  • ช่วยแก้อาการท้องเสีย
  • ยาต้มของต้นหญ้าแพรกใช้กินเป็นยาแก้ท้องเดินเรื้อรังได้ 
  • รากและลำต้นมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ ด้วยการนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยา ช่วยแก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ 
  • รากใช้เป็นยาแก้ซิฟิลิสในระยะออกดอก 
  • ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร แก้ริดสีดวงทวารมีเลือดออก 
  • ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ตกโลหิตระดูมากเกินไปของสตรี 
  • ช่วยแก้อาการบวมน้ำ 
  • ใช้เป็นยาห้ามเลือด ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น 
  • ทั้งต้นนำมาตำใช้เป็นยาพอกแผลจากการหกล้มหรือกระทบกระแทก มีดบาด ช่วยสมานบาดแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น 
  • ทั้งต้นนำมาตำกับเหล้าใช้เป็นยาพอกทาแก้พิษอักเสบ ปวดบวม 
  • ช่วยรักษาพิษไข้มีผื่นต่าง ๆ เช่น เป็นหัด เหือด ดำแดง อีสุกอีใส เป็นต้น ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาตำคั้นเอาน้ำและกากพอกหรือทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้ลำต้นสดนำมาตำคั้นเอาน้ำและกากทาหรือพอกแก้อาการปวดข้อ 
  • ช่วยแก้อัมพาต แก้อัมพาตครึ่งตัว แขนขาชา ปวดเมื่อยกระดูก ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาชงกับเหล้ากิน

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ใช้เป็นยาแก้โรคหนองเรื้อรัง ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 60 กรัม นำมาต้มหรือบดให้ละเอียด ใช้กินเป็นยา

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “หญ้าแพรก”.  หน้า 809-810.
  2. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  (รักษ์เกียรติ จิรันธร).  “หนึ่งในพืชสำคัญของพิธีไหว้ครู หญ้าแพรก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: pcog2.pharmacy.psu.ac.th.  [25 ก.ค. 2014].
  3. ไม้พุทธประวัติ, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “หญ้าแพรก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/homklindokmai/budhabot/budbot.htm. [25 ก.ค. 2014].
  4. โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี.  “หญ้าแพรก”.  อ้างอิงใน : หนังสือไม้ดอกและไม้ประดับ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.skn.ac.th.  [25 ก.ค. 2014].