มะม่วง
  ชื่อสามัญภาษาไทยมะม่วง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษMango
  ชื่อวิทยาศาสตร์Mangifera indica L.
  ชื่อพ้องMangifera austroyunnanensis Hu
  ชื่อวงศ์Anacardiaceae
  ชื่อท้องถิ่นหมากม่วง (ภาคอีสาน), ลูกม่วง (ภาคใต้), บะม่วง (ภาคเหนือ), หมักโม่ง (เงี้ยว-ภาคเหนือ)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะม่วงจัดเป็นไม้พุ่มยืนต้นมีน้ำยางสีขาวขุ่นอยู่ในทุกส่วน สูงประมาณ 10-15 ม. ซึ่งขนาดของลำต้นจะขึ้นอยู่กับพันธุ์และอาจะ แต่โดยทั่วไปแล้วลำต้นจะมีลักษณะตรง ผิวลำต้นสีเทาหรือเกือบดำ เปลือกอ่อนมีสีเขียว เปลือกแก่เป็นสีน้ำตาล ผิวขรุขระแข็งมีเกล็ดมากและมีกิ่งก้านสาขาขนาดใหญ่ แข็งแรง ลักษณะทรงพุ่มเป็นรูปครึ่งวงกลมหรือรูปไข่ ส่วนเนื้อไม้เมื่ออายุน้อยจะมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลือกเป็นสีน้ำตาลแกมแดง สำหรับระบบรากเป็นแบบรากแก้ว โดยความยาวของรากมีตั้งแต่ 6-8 เมตร (หรือมากกว่า) และมีรากดูดอาหารนั้นอยู่หนาแน่ในบริเวณผิวดิน ลึกประมาณ 30-60 เซนติเมตร และแผ่กว้างออกประมาณ 750 เซนติเมตร แต่ถ้าหากขาดการพรวนดินพูนโคนเป็นเวลานานก็จะทำให้รากมะม่วงเจริญโผล่ขึ้นมาบนดิน 

ใบเป็นแบบใบเดี่ยวเรียงตัวแบบสลับบริเวณปลายกิ่งมีใบเกิดถี่ ใบเป็นรูปหอกยาวแกมของขนาน เรียวยาว โดยยาวประมาณ 8-40 ซม. กว้าง 2-10 ซม.(แล้วแต่สายพันธุ์) ฐานใบค่อยๆ กว้างออกคล้ายรูปลิ่มแหลม ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่น ไม่มีขน ไม่มีหูใบ ใบอ่อนสีออกแดง แต่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบเป็นมัน ก้านใบยาว 1-10 เซนติเมตร 

ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ซึ่งจะออกตามปลายกิ่งหรือตาดอกที่อยู่ปลายกิ่งโดยในช่อดอกหนึ่งๆ จะมีช่อย่อยหลายช่อ และบริเวณก้านช่อดอกจะมีสีเขียวออกแดงและมีขน ในแต่ละช่อดอกประกอบด้วยดอก 2 ประเภท คือ ดอกเพศผู้ และดอกสมบูรณ์เพศอยู่ร่วมช่อดอกเดียวกัน ส่วนกลีบดอกโดยทั่วไปมี 5 กลีบแยกกัน และมีร่องสีเหลืองเข้มบริเวณโคนกลีบดอก ในระหว่างวงกลีบดอก และวงเกสรเพสผู้จะมีแผ่นจานกลมคั่นอยู่ ส่วนสีของดอกนั้นดอกมีหลายสีแตกต่างกัน ได้แก่ แดง ชมพู หรือขาว แล้วแต่สายพันธุ์ และสำหรับ (ดอกสมบูรณ์เพศ คือ ดอกที่มีทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ในดอกเดียวกัน และสามารถเจริญกลายเป็นผลได้เมื่อได้รับการผสมเกสร) กลีบเลี้ยงจะมี 4-5 กลีบ แยกกัน ลักษณะโค้งนูนมีสีเขียวอมเหลือง และมีขนแข็งขนาดยาวปกคลุม 

ผลเป็นแบบผลสดโดยจะออกเป็นผลเดี่ยว โดยขนาดของรูปร่าง รูปทรงสีปริมาณเสี้ยน รสชาติ และกลิ่น จะมีความต่างในแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งขนาดความยาวของผลจะมีตั้งแต่ 5-20 เซนติเมตร ความกว้าง 4-8 เซนติเมตร ส่วนรูปร่างของผลมีตั้งแต่กลมไปจนถึงรูปไข่ค่อนข้างยาว สีเปลือกด้านนอกของผลประกอบด้วยส่วนผสมของสีต่างๆ เช่น เขียว เหลือง แดงและม่วง เนื้อในเมื่อยังอ่อน เนื้อแน่นแข็งรสหวานหรือเปรี้ยงแล้วแต่สายพันธุ์ แต่เมื่อผลสุกเนื้อจะอ่อนนุ่ม มีรสชาติหวานหอม เมล็ดอยู่ถัดจากเนื้อ มีขนาดใหญ่ไปจนถึงเกือบไม่มีเมล็ด (แล้วแต่สายพันธุ์) เมล็ดจะมีสีขาวขุ่นมีเส้นใยขึ้นปกคลุม เปลือกหุ้มเมล็ดมีเยื่อหุ้ม 2 ชั้น คือ ชั้นนอก (testa) และชั้นใน (tegmen)

สรรพคุณทั่วไป

  • ใช้บำรุงธาตุ
  • ใช้บำรุงกระเพาะอาหาร
  • ช่วยทำให้กระปรี้กระเปร่า
  • แก้ร้อนในกระหาย้ำ
  • แก้บิดมูกเลือด
  • ใช้เป็นยาระบายช่วยในการขับถ่าย
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้วิงเวียนศีรษะ
  • ช่วยแก้เบาหวาน
  • แก้ลำไส้อักเสบ
  • แก้ท้องอืด
  • แก้ตานขโมยในเด็ก
  • ใช้ล้างบาดแผล สมานแผล
  • แก้ไข้ตัวร้อน
  • แก้จมูกอักเสบ
  • แก้คอตีบ
  • ใช้ขับพยาธิ
  • แก้ปวดเมื่อยปวดประจำเดือน


 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงกระเพาะอาหาร แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้วิงเวียนศีรษะ ปรับสมดุลร่างกาย ทำให้กระปรี้กระเปร่า แก้อาการบิดมูกเลือด  ช่วยในการขับถ่าย ใช้เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ โดยการนำมะม่วงสุกมารับประทานเป็นผลไม้ เป็นประจำ
  • ใช้แก้ โรคเบาหวาน โดยใช้ใบมะม่วงมาล้างให้สะอาด (ประมาณ 15 ใบ) แล้วนำมาต้มในน้ำสะอาด 1 ถ้วย (ใช้ไฟอ่อน ๆ นาน 1 ชั่วโมง) ถ้าน้ำแห้งก็เดิมเรื่อย ๆ เมื่อเสร็จแล้วทิ้งค้างคืนไว้ 1 คืน แล้วจึงนำมากรองเอาแต่น้ำดื่มติดต่อกันประมาณ 3-4 วัน
  • แก้ซางตานขโมยในเด็ก แก้ท้องอืด แก้ลำไส้อักเสบ โดยใช้ใบมะม่วง ประมาณ 15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้ภายนอก โดยใช้ล้างบาดแผลภายนอกก็ได้
  • ใช้แก้โรคคอตีบ แก้ไข้ตัวร้อนจมูกอักเสบ โดยใช้เปลือกต้นมะม่วงมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ขับพยาธิ โดยใช้เมล็ดแก่มาตากแห้งแล้วต้มเอาน้ำดื่ม หรือจะบดให้เป็นผงนำมารับประทานก็ได้
  • แก้อาการปวดประจำเดือนและอาการปวดเมื่อยโดยการนำเปลือกผลดิบมาคั่วรับประทานร่วมกับน้ำตาล
  • ใช้สมานแผลสด โดยใช้ใบมะม่วงสดล้างให้สะอาดแล้วนำมาตำพอกบริเวณแผล

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. มะม่วง ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 173 – 177
  2. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้.  ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544.  ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม).  พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544
  3. ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว. (2556). มะม่วง-การผลิตและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว. สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา, เชียงใหม่.
  4. ฤทธิ์บรรเทาปวดของสารสกัดน้ำจากเปลือกต้นมะม่วง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดในมะม่วง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ผศ.วัฒนา สวยาธิปัติ.  ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ.  สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม
  7. ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่271 หน้า 
  8. สาร mangiferin ในมะม่วงป้องกันผลในกระเพาะอาหาร.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. วนิสสา หวานเสนาะ. (2552). ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเอ็นเอเอ และเอทธีฟอน เพื่อการชักนำการหลุดร่วงของช่อดอกและช่อผลของมะม่วงน้ำดอกไม้. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
  10. ฤทธิ์ต้านเอนไซม์ในพิษงูจากสารสกัดเมล็ดมะม่วง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  11. ดวงพร ภู่ผะภา.การประเมินปริมาณสารพฤกษาเคมีบางประการ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปริมาณสารกลุ่มฟิวอลิกของมะม่วงพื้นเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา.วารสารวิทยาศาสตร์ มข.ปีที่43.ฉบับที่2 เมษายน-มิถุนายน 2558.หน้า267-283
  12. สาร mangiferin ลดเบาหวาน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์วิทยาลัยมหิดล.