ผักหวานบ้าน
  ชื่อสามัญภาษาไทยผักหวานบ้าน
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษStar gooseberry
  ชื่อวิทยาศาสตร์Sauropus androgynus (L.) Merr.
  ชื่อพ้องSauropus albicans Blume
  ชื่อวงศ์Phyllanthaceae
  ชื่อท้องถิ่นผักหวาน (ทั่วไป), มะยมป่า (ประจวบคีรีขันธ์), ผักหวานใต้ใบ (สตูล), ก้านตง จ๊าผักหวาน ใต้ใบใหญ่ ผักหลน (ภาคเหนือ), นานาเซียม (มลายู-สตูล), ตาเชเค๊าะ โถหลุ่ยกะนีเต๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ผักหวานบ้านเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นแข็ง ลำต้นกลมหรือค่อนข้างเป็นเหลี่ยม ตั้งตรง เปลือกต้นขรุขระ สีน้ำตาล กิ่งอ่อนสีเขียวเข้มผิวเรียบ แตกกิ่งก้านระนาบกับพื้นหรือเกือบปรกดิน กิ่งเรียวงอเล็กน้อยตามข้อ 

ใบเดี่ยวเรียงสลับ ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน รูปไข่แกมขอบขนาน รูปขอบขนาน หรือรูปคล้ายขนมเปียกปูน ยาว 4-8 เซนติเมตร กว้าง 2-5 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ สีเขียวเข้ม มีแถบสีขาวบริเวณกลางใบ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีหูใบ มีใบประดับรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม 

ดอกเดี่ยว แยกเพศ ออกบริเวณซอกใบ เรียงตามก้านใบ โดยมีใบปรกอยู่ด้านบน ดอกขนาดเล็ก มี 2 ชนิด ตอนบนของกิ่งก้านจะเป็นดอกเพศเมีย ส่วนตอนล่างจะเป็นดอกเพศผู้ มีดอกเพศเมีย 1-3 ดอก ดอกเพศผู้จำนวนมาก ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ กลีบดอก 6 กลีบ รูปจานกลมแบน สีน้ำตาลแดง ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร เกสรเพศผู้มี 3 อัน ก้านเกสรเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 3 แฉก ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ดอกสีเขียวอมเหลือง มีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ รูปไข่กลับ เหลื่อมซ้อนกันคล้ายเรียงสองชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบเลี้ยงสีแดงเข้มหรือสีเหลืองจุดประสีแดงเข้ม 

ผลแห้ง แตกได้ ทรงกลมแป้น สีเขียวอ่อน ฉ่ำน้ำ ขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร เมื่อแก่เต็มที่มีสีขาวอมเหลือง มีกลีบเลี้ยงสีแดงติดคงทน ภายในผลแบ่งเป็น 6 พู แต่ละพูมี 1 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปครึ่งวงกลม เปลือกเมล็ดสีน้ำตาลเข้ม หนา และแข็ง พบตามป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ ที่รกร้าง ป่าดิบชื้น ที่โล่งแจ้ง ตามเรือกสวน ออกดอกตลอดปี ยอดอ่อน เมื่อลวก นึ่ง ใช้รับประทานเป็นผัก

สรรพคุณทั่วไป

  • ราก – เป็นยาถอนพิษร้อน พิษไข้ พิษซาง ถอนพิษสำแดงกินของแสลงเป็นพิษ แก้ขัดเบา แก้ไอ แก้คางทูม คอพอก แผลฝี 
  • ใบ – ใช้กินเป็นยาประสระน้ำนม เมื่อนำมาต้มกินก็จะขับเลือดขับน้ำคาวปลาทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น และยังใช้เป็นยาบำรุงสุขภาพสำหรับคุณแม่หลังคลอด 
  • ดอก – ใช้เป็นยาขับเลือด

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  ใบใช้น้ำยางหยอดแก้ตาอักเสบ รักษาแผลในจมูก
  ต้นใช้น้ำยางหยอดแก้ตาอักเสบ รักษาแผลในจมูก
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • หมอยาแผนโบราณจะใบสดใช้รักษากรณีหญิงคลอดบุตรและรกไม่เคลื่อน ด้วยการใช้ใบในขนาด 30-40 กรัมต่อวัน นำมาต้มสกัดด้วยน้ำ โดยการกินจะกำหนดโดยหมอที่รักษา

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “ผักหวานบ้าน (Phak Wan Ban)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 182.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ผักหวานบ้าน”.  หน้า 191.
  3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ผักหวานบ้าน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [28 เม.ย. 2014].
  4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 242 คอลัมน์: พืช-ผัก-ผลไม้.  “ผักหวานบ้าน : ความหวานจากผักพื้นบ้านดั้งเดิม”.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [28 เม.ย. 2014].
  5. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย, กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ผักหวานบ้าน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [28 เม.ย. 2014].
  6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “ผักหวานบ้าน”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์,).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [28 เม.ย. 2014].
  7. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่.  “เรื่องผักหวาน”.  (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th.  [28 เม.ย. 2014].
  8. มุมสมุนไพร, ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูง จังหวัดลำพูน.  “ผักหวานบ้าน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.haec05.doae.go.th.  [28 เม.ย. 2014].
  9. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 48.  “ผลของสารสกัดจากพืชบางชนิดต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของคะน้า”. (ศานิต สวัสดิกาญจน์, สุวิทย์ เฑียรทอง, เนาวรัตน์ ประดับเพ็ชร์, สิริวรรณ สมิทธิอาภรณ์, และวริสรา ปลื้มฤดี). หน้า 412-421.
  10. เดอะแดนดอทคอม.  “ผักหวานบ้าน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com.  [28 เม.ย. 2014].
  11. สำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา.  “ผักหวานบ้าน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.chachoengsao.doae.go.th.  [28 เม.ย. 2014].
  12. หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันพุธที่ 18 กรกฎาคม 2555 คอมลัมน์ภูมิปัญญาเพื่อสุขภาพ หน้า 5.  “ผักที่รู้จักดีแห่งอาเซี่ยน”.  (รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด).