|
ชื่อสามัญภาษาไทย | สวอง หรือ ตีนนก |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Vitex pinnata L |
ชื่อวงศ์ | Lamiaceae |
ชื่อท้องถิ่น | สมอป่า สมอหิน สวองหิน (นครราชสีมา), ตะพุน ตะพุนทอง ตะพุ่ม (ตราด), เน่า (ลพบุรี), สมอตีนนก (ราชบุรี), ไข่เน่า (นครราชสีมา, ลพบุรี), กะพุน ตะพรุน (จันทบุรี), กานน สมอกานน (ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์), นนเด็น (ปัตตานี), กาสามปีก (ภาคเหนือ), ตีนนก สมอบ่วง (ภาคกลาง), โคนสมอ (ภาคตะวันออก), นน สมอตีนเป็ด (ภาคใต้), ลือแม (มาเลย์-นราธิวาส), ไม้ตีนนก (ไทลื้อ) |
สวอง หรือ ตีนนกเป็นไม้ต้น สูง 5-10 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทา แตกเป็นสะเก็ดยาว กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมสี่มุม มีขนสั้นปกคลุม ใบประกอบแบบฝ่ามือ ใบย่อย 3-5 ใบ ออกจากจุดเดียวกัน เรียงแบบตรงข้ามและตั้งฉาก ใบย่อยรูปใบหอกถึงรูปไข่แกมใบหอก กว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 10-13 เซนติเมตร ใบย่อยตรงกลางมักมีขนาดใหญ่ที่สุด ปลายใบแหลม ฐานใบสอบแหลม ขอบใบเรียบ ยอดอ่อนมีขนคล้ายกำมะหยี่ ผิวใบด้านบนเรียบ ด้านล่างมีขนสั้นๆ หนาแน่น ขนนุ่ม ก้านใบแผ่เป็นปีก ก้านใบย่อยสั้นมาก ดอกช่อแบบช่อแยกแขนงออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ยาว 7-20 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอก 5 กลีบ กลีบบนมี 4 กลีบ กลีบล่างมี 1 กลีบ สีน้ำเงินหรือสีม่วงอ่อน โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปถ้วย ปลายแยกเป็นสองปาก เกสรเพศผู้มี 4 อัน ติดกับหลอดกลีบดอก สั้น 2 อัน ยาว 2 อัน เกสรเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปถ้วย ปลายแยกเป็นติ่งรูปสามเหลี่ยม มีขนสั้น ไม่มีก้านดอก ผลเดี่ยว สด รูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มีเมล็ดเดียวแข็ง มีกลีบเลี้ยงติดคงทน ผลแก่สีม่วงเข้มถึงสีดำ ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกุมภาพันธ์ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง | |
| |
|