มะเกลือ
  ชื่อสามัญภาษาไทยมะเกลือ
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษEbony tree
  ชื่อวิทยาศาสตร์Diospyros mollis Griff
  ชื่อวงศ์Ebenaceae
  ชื่อท้องถิ่นมะเกือ, มะเกีย (ภาคเหนือ),มะเกือ (ภาคอีสาน) ,เกลือ (ภาคใต้), มักเกลือ, หมักเกลือ (ตราด,เขมร), ผีผา (ไทยใหญ่)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะเกลือเป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง 8-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม กิ่งอ่อนมีขนนุ่มทั่วไป เปลือกนอกสีดำ แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ตามยาว 

ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือแกมขอบขนาน กว้าง 1.5-4 ซม. ยาว 4-8 ซม. โคนใบมนหรือกลม ส่วนปลายใบสอบ ใบแก่เกลี้ยง ก้านใบยาว 5-10 มม. เมื่อแห้งเป็นสีดำ 

ดอกต่างเพศอยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบ ช่อหนึ่งๆ มีประมาณ 3 ดอก ดอกย่อย กลีบรองดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 4 แฉก กลีบดอกยาว 6-8 ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปเหยือกน้ำ ปลายแยกเป็น 4 แฉก เกสรผู้ 14-24 อัน ดอกเพศเมีย ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ก้านดอกยาว 1-3 มม. มีขนนุ่มปกคลุม เกสรผู้เทียม 8-10 อัน

ผลกลม เกลี้ยง ขนาดผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. มีกลีบรองดอกติดอยู่ที่ขั้วผล 4 กลีบ ผลแก่จัดสีดำ เมื่อแห้งเปลือกเปราะ

สรรพคุณทั่วไป

  • ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิลำไส้ พยาธิปากขอ (Hookworm), พยาธิตัวตืด (Tapeworm), พยาธิตัวกลม (Roundworm), พยาธิเส้นด้าย (Threadworm) และพยาธิแส้ม้า (Whipworm) 
  • ถ่ายตานซาง 
  • ถ่ายกระษัย 
  • แก้อาเจียน 
  • แก้ลม 
  • แก้กระษัย 
  • แก้ริดสีดวงทวาร 
  • แก้พิษตานซาง 
  • ขับพยาธิ 
  • ต้มน้ำอาบรักษาโรคดีซ่าน

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  เนื้อไม้ขับพยาธิไส้เดือน ตัวตืด
  รากขับพยาธิไส้เดือน ตัวตืด
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

วิธีการใช้สมุนไพรมะเกลือขับพยาธิ 
  • ขั้นตอนแรกให้เลือกใช้ผลมะเกลือสดที่โตเต็มที่และเขียวจัด โดยใช้จำนวนผลเท่ากับอายุแต่ไม่เกิน 20-25 ผล เช่น หากอายุ 30 ปี ก็ให้ใช้เพียง 25 ผล หรือหากมีอายุ 20 ปี ก็ให้ใช้เพียง 20 ผล เป็นต้น 
  • นำผลสดที่ได้ล้างให้สะอาดแล้วมาโขลกพอแหลก แล้วคั้นเอาแต่น้ำมาผสมกับหัวกะทิสด (กะทิจะช่วยกลบรสเฝื่อนได้ เพราะน้ำคั้นของมะเกลือมีรสเฝื่อนและกินได้ยากมาก) แล้วนำมาดื่มขณะท้องว่างก่อนอาหารเช้าทันที ห้ามทิ้งไว้เพราะจะทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีดำและมีพิษ และยังทำให้ฤทธิ์ในการถ่ายพยาธิลดน้อยลงด้วย หลังรับประทานไป 3 ชั่วโมงแล้ว หากยังไม่ถ่ายให้ใช้ยาถ่ายตาม หรือใช้ดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะละลายน้ำดื่มตามลงไป (ผลสดสีเขียว)

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล 
  2. เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
  3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 
  4. นิตยสารหมอชาวบ้าน (นพ.ประเสริฐศักดิ์ ตู้จินดา) 
  5. เว็บไซต์โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์