กะเพรา
  ชื่อสามัญภาษาไทยกะเพรา
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษHoly basil, Sacred Basil, Tulsi, Tulasi
  ชื่อวิทยาศาสตร์Ocimum sanctum Linn.
  ชื่อพ้องOcimum tenuiflorum Linn.
  ชื่อวงศ์Lamiaceae
  ชื่อท้องถิ่นกำก้อขาว , กำก้อดำ , กำก้อดง (ภาคเหนือ) , กะเพราแดง , กะเพราขาว , กะเพราขน (ภาคกลาง) , อีตู่ไทย อีตู้ข้า (ภาคอีสาน) , ห่อกว่อซู , ห่งตู้ปลู (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน) , อิมคิมหลำ (เงี้ยว - แม่ฮ่องสอน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

กะเพราเป็นไม้ล้มลุกที่มีความสูงของต้นประมาณ 30-60 เซนติเมตร โคนต้นออกแข็ง กะเพราแดงจะมีลำต้นสีแดงอมเขียว กะเพราขาวมีลำต้นสีเขียวอมขาว และยอดอ่อนมีขนสีขาว

มีใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวรูปรีออกตรงข้ามกัน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเป็นจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบมีขนสีขาว

ส่วนดอกกะเพราจะออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกสีขาวแกมม่วงแดงมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงโคนจะเชื่อมติดกัน ปลายเรียวแหลม ด้านนอกมีขน กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ปาก ปากบน 4 แฉก ปากล่าง 1 แฉกและยาวกว่าปากบน มีขนประปราย เกสรตัวผู้มี 4 อัน ส่วนผลเป็นผลแห้ง เล็ก เมื่อแตกออกจะมีเมล็ดสีดำถึงน้ำตาลคล้ายรูปไข่

สรรพคุณทั่วไป

  • ใช้ทำเป็นยาอายุวัฒนะ (the elixir of life)
  • ใบช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่นและป้องกันอาการหวัดได้ 
  • กะเพราเป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพรหลายชนิด เช่น ยารักษาตานขโมยสำหรับเด็ก ยาแก้ทางเด็ก ฯลฯ
  • รากแห้งนำมาชงหรือต้มกับน้ำร้อนดื่ม ช่วยแก้โรคธาตุพิการ 
  • ใบช่วยบำรุงธาตุไฟ 
  • ใบช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน 
  • ใบช่วยแก้อาการปวดด้วยการใช้ใบกะเพรานำมาคั้นรับประทานสด 1 ถ้วยตะไล จะช่วยแก้อาการปวดมวนท้องได้เป็นอย่างดี 
  • ใบช่วยขับลมแก้อาการปวดท้องอุจจาระ 
  • ใบกะเพรามีสรรพคุณช่วยขับลมในกระเพาะ 
  • ใบช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง 
  • ใบช่วยแก้ลมซานตาง 
  • น้ำสกัดจากทั้งต้นของกะเพรามีฤทธิ์ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ 
  • น้ำสกัดจากทั้งต้นช่วยย่อยไขมัน 
  • น้ำสกัดจากทั้งต้นช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร 
  • น้ำสกัดจากทั้งต้นช่วยขับน้ำดี 
  • ใบช่วยแก้ลมพิษ ด้วยการใช้ใบกะเพราประมาณ 1 กำมือนำมาตำผสมเหล้าขาวแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นลมพิษ 
  • ใบใช้ทำเป็นยารักษากลากเกลื้อน ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 20 ใบนำมาขยี้ให้น้ำออกมา แล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้งจนกว่าจะหาย 
  • ใบสดใช้เป็นยารักษาหูด ด้วยการใช้ใบกะเพราแดงสดนำมาขยี้แล้วทาบริเวณที่เป็นหูดเช้า-เย็น จนกว่าหัวหูดจะหลุดออกมา โดยระวังอย่าให้เข้าตาและถูกบริเวณผิวที่ไม่ได้เป็นหูด เพราะจะทำให้เนื้อดีเน่าเปื่อยและรักษาได้ยาก 
  • ใบช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ ด้วยการใช้ใบกะเพรานำมาตำผสมกับเหล้าขาว แล้วนำมาทาบริเวณที่ถูกกัด ห้ามนำมารับประทานเด็ดขาดเพราะจะมีสารยูจีนอล (Eugenol) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและอาจถึงขั้นโคม่าได้ 
  • น้ำมันใบกะเพราช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคและช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดได้ 
  • มีงานวิจัยพบว่ากะเพราสามารช่วยยับยั้งสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเป็นสารพิษที่มักพบเจือปนในอาหารซึ่งเป็นสารก่อโรคมะเร็งได้ 
  • ใบกะเพรามีฤทธิ์ในการช่วยขับไขมันและน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกาย ช่วยลดระดับไขมันในร่างกายและช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ โดยมีการใช้ใบกะเพราในกระต่ายทดลอง โดยให้กระต่ายกินใบกะเพราติดต่อ 4 สัปดาห์พบว่าระดับไขมันโดยรวมลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันเลว (LDL) ลดลง แต่ไขมันชนิดดี (HDL) กลับเพิ่มขึ้น
  • ใบช่วยเพิ่มน้ำนมให้สตรีหลังคลอดบุตร ด้วยการใช้ใบกะเพราสดประมาณ 1 กำมือ นำมาใส่แกงเลียงรับประทานบ่อย ๆ ในช่วงหลังคลอด 
  • นำเมล็ดไปแช่น้ำจะพองตัวเป็นเมือกขาว นำมาใช้พอกบริเวณตา เมื่อมีฝุ่นละอองหรือเศษผงเข้าตา ผงหรือฝุ่นละอองก็จะหลุดออกมา โดยไม่ทำให้ตาของเรานั้นช้ำอีกด้วย 
  • ใบและกิ่งสดของกะเพรามีการนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยด้วยการต้มกลั่นจนได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08 – 0.1 โดยมีราคาประมาณกิโลกรัมละหนึ่งหมื่นบาท
  • ใช้ไล่ยุงหรือฆ่ายุง ด้วยการใช้ทั้งใบสดและกิ่งสด เอาใบมาขยี้แล้ววางใกล้ตัว ๆ จะช่วยไล่ยุงและแมลงได้ โดยน้ำมันกะเพราที่สกัดมาจากใบจะมีคุณสมบัติช่วยไล่ยุงได้ดีกว่าต้นสด 
  • น้ำมันสกัดจากใบสด ช่วยล่อแมลง ทำให้แมลงวันทองบินมาตอมน้ำมันนี้ 
  • ใช้ในการประกอบอาหารและช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ในเมนูกะเพราสุดโปรด เช่น ผัดกะเพรา แกงเลียง แกงป่า แกงคั่ว แกงเขียวหวาน แกงส้มมะเขือขื่น ผัดกบ ผัดหมู ผัดปลาไหล พล่าปลาดุก พล่ากุ้ง หรือจะนำใบกะเพรามาทอดแล้วใช้โรยหน้าอาหารเมนูต่าง ๆ ก็ได้ ฯลฯ
  • ใบกะเพราสามารถช่วยดับกลิ่นปากอันไม่พึงประสงค์ได้ 

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
  2. สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
  3. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  4. กรมชลประทาน
  5. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  6. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
  7. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN)