ผักชีลาว
  ชื่อสามัญภาษาไทยผักชีลาว
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษDill
  ชื่อวิทยาศาสตร์Anethum graveolens L.
  ชื่อวงศ์Apiaceae
  ชื่อท้องถิ่นผักชีเมือง (น่าน), ผักชีเทียน ผักชีตั๊กแตน (พิจิตร), ผักชี (เลย, ขอนแก่น), เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน (ภาคกลาง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ผักชีลาวเป็นพืชล้มลุก อายุ 1-2 ปี ลำต้นเรียบและตั้งตรง สีเขียวอ่อน แตกกิ่ง ทั้งต้นมีกลิ่นหอม สูง 40-170 เซนติเมตร มีข้อปล้องเห็นได้ชัดเจน มีกาบใบหุ้มลำต้นเล็กน้อย 

ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม ใบรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ สีเขียวสด เมื่อดูแนวรูปใบโดยรวม มีขนาดกว้าง 11-20 เซนติเมตร ยาว 10-35 เซนติเมตร ขอบใบหยักลึกเป็นแฉกแบบขนนกหลายชั้น แฉกย่อยที่สุดมีลักษณะแคบยาวเป็นริ้ว กว้างน้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร ยาว 4-20 มิลลิเมตร ก้านใบยาว 5-6 เซนติเมตร แผ่เป็นกาบ 

ดอก สีเหลือง ออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกซี่ร่มหลายชั้นหลวมๆ ก้านช่อดอกยาว 7-16 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็กมาก หรือไม่มี กลีบดอกมี 5 กลีบ สีเหลือง เกสรเพศผู้มี 5 อัน ติดบนฐานดอก เรียงสลับกับกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี 2 ช่อง

ผลแก่แห้งไม่แตก รูปรี สีน้ำตาลอมเหลือง คล้ายตาตั๊กแตน ขนาดกว้างราว 2 มิลลิเมตร ยาวราว 4 มิลลิเมตร ผิวเรียบ ผลแก่แห้งเรียกตามตำรายาไทยว่า “เทียนตาตั๊กแตน” เป็นตัวยาหนึ่งในพิกัดเทียนทั้งเจ็ด ใช้ปรุงยา และเป็นเครื่องเทศ ต้นและใบสด ใช้ปรุงอาหาร หรือเป็นผักจิ้ม จะเก็บต้นและใบสดก่อนออกดอก

สรรพคุณทั่วไป

  • มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระในปริมาณมาก 
  • ช่วยในการชะลอวัย 
  • ช่วยบำรุงและรักษาสายตา 
  • ช่วยป้องกันการเกิดโรคเกี่ยวกับตาต่าง ๆ (เพราะมีวิตามินเอสูงมาก) 
  • ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง (มีแคลเซียมสูง) 
  • สรรพคุณของผักชีลาวใช้เป็นยาบำรุงกำลังชั่วคราว 
  • ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย 
  • ช่วยลดความดันโลหิตสูง 
  • ช่วยยับยั้งหรือช่วยชะลอการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง 
  • ช่วยรักษาโรคเบาหวาน (เบตาแคโรทีน) 
  • ช่วยขยายหลอดเลือด 
  • ช่วยบำรุงปอด 
  • ช่วยขับเหงื่อ 
  • ช่วยกระตุ้นการหายใจ 
  • แก้หอบหืด 
  • ช่วยแก้อาการไอ 
  • ช่วยแก้อาการสะอึก

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ช่วยแก้อาการปวดท้อง ด้วยการใช้ผลแห้งนำมาบดให้เป็นผงแล้วชงกับน้ำดื่มวันละ 4 แก้ว
  • ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ด้วยการใช้ผลแห้งนำมาบดให้เป็นผงแล้วชงกับน้ำดื่มวันละ 4 แก้ว หรือจะใช้ต้นสดนำมาผสมกับนมให้เด็กอ่อนดื่มแก้อาการก็ได้เช่นกัน 
  • แก้อาการอึดอัดแน่นท้อง ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 50 กรัม นำมาเคี่ยวกับน้ำจนข้นแล้วรับประทาน 
  • ช่วยขับลมในลำไส้ ด้วยการใช้ผลแห้งนำมาบดให้เป็นผงแล้วชงกับน้ำดื่มวันละ 4 แก้ว

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN) 
  2. สำนักงานกองทุนสนับสนันการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 
  3. https://puechkaset.com