ตะไคร้
  ชื่อสามัญภาษาไทยตะไคร้
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษLemongrass
  ชื่อวิทยาศาสตร์Cymbopogon citratus (DC.) Stapf
  ชื่อวงศ์Poaceae
  ชื่อท้องถิ่นเงี้ยว-แม่ฮ่องสอน คาหอม กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน ห่อวอตะโป่ ภาคเหนือ จะไคร ภาคกลาง ตะไคร้ ภาคใต้ ไคร เขมร-สุรินทร์ เหลอะเกรย, เซิดเกรย เขมร-ปราจีนบุรี หัวสิงไค
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ตะไคร้เป็นพืชล้มลุกวงศ์เดียวกับหญ้า มักมีอายุมากกว่า 1 ปี (ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสภาพแวดล้อม) 

ลำต้นตะไคร้มีเหง้าใต้ดิน ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง รูปทรงกระบอก มีความสูงได้ถึง 1 เมตร (รวมทั้งใบ) ส่วนของลำต้นที่เรามองเห็นจะเป็นส่วนของกาบใบที่ออกเรียงช้อนกันแน่น โคนต้นมีลักษณะกาบใบหุ้มหนา ผิวเรียบ และมีขนอ่อนปกคลุม ส่วนโคนมีรูปร่างอ้วน มีสีม่วงอ่อนเล็กน้อย และค่อยๆ เรียวเล็กลงกลายเป็นส่วนของใบ แกนกลางเป็นปล้องแข็ง ส่วนนี้สูงประมาณ 20-30 ซม. ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และพันธุ์ และเป็นส่วนที่นำมาใช้สำหรับประกอบอาหาร 

ใบตะไคร้ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ก้านใบ (ส่วนลำต้นที่กล่าวข้างต้น) หูใบ (ส่วนต่อระหว่างกาบใบ และใบ) และใบ  ใบตะไคร้ เป็นใบเดี่ยว มีสีเขียว มีลักษณะเรียวยาว ปลายใบโค้งลู่ลงดิน โคนใบเชื่อมต่อกับหูใบ ใบมีรูปขอบขนาน ผิวใบสากมือ และมีขนปกคลุม ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แต่คม กลางใบมีเส้นกลางใบแข็ง สีขาวอมเทา มองเห็นต่างกับแผ่นใบชัดเจน ใบกว้างประมาณ 2 ซม. ยาว 60-80 เซนติเมตร  

ตะไคร้เป็นพืชที่ออกดอกยาก จึงไม่ค่อยพบเห็น ดอกตะไคร้ดอกจะออกดอกเป็นช่อกระจาย มีก้านช่อดอกยาว และมีก้านช่อดอกย่อยเรียงเป็นคู่ๆ ในแต่ละคู่จะมีใบประดับรองรับ มีกลิ่นหอม ดอกมีขนาดใหญ่คล้ายดอกอ้อ

สรรพคุณทั่วไป

  • มีส่วนช่วยในการขับเหงื่อ 
  • ต้นตะไคร้เป็นยาบำรุงธาตุไฟให้เจริญ 
  • มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยในการเจริญอาหาร 
  • ต้นช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร 
  • สารสกัดจากตะไคร้มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • โคนกาบใบและลำต้น ใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อแน่นจุกเสียด 
  • ใบ รสหอมปร่า ใบสดใช้เป็นยาช่วยลดความดันโลหิต และแก้ไข้ 
  • ลำต้น รสหอมปร่า เป็นยาขับลม แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้ผมแตกปลาย แก้เบื่ออาหาร ทำให้เจริญอาหาร ขับเหงื่อ แก้ดับกลิ่นคาวในอาหาร 
  • ทั้งต้น รสหอมปร่า แก้ปวดท้อง รักษาโรคหืด แก้อหิวาตกโรค แก้โรคระบบทางเดินปัสสาวะ หรือใช้ทำเป็นยานวด ใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นรักษาโรค เช่น เป็นยาบำรุงธาตุ ขับเหงื่อ เจริญอาหาร 
  • เหง้า รสหอมปร่า แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด แก้เกระษัย แก้เบื่ออาหาร แก้อาเจียนสำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ เป็นยานอนหลับ ยาบำรุง แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะและนิ่ว ขับลมในลำไส้ ราก รสหอมปร่า เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้เสียดแน่น บำรุงไฟธาตุ ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว รักษาเกลื้อน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
  2. กระทรวงสาธารณสุข 
  3. https://medthai.com/ตะไคร้/ 
  4. ภญ.อัจฉรา แหลงทอง. สมุนไพรใกล้ตัว. หน้า 15. 
  5. อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 93, 210.