นนทรี
  ชื่อสามัญภาษาไทยนนทรี
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษCopper pod, Yellow flame, Yellow poinciana
  ชื่อวิทยาศาสตร์Peltophorum pterocarpum (DC.) K.Heyne
  ชื่อวงศ์Fabaceae
  ชื่อท้องถิ่นสารเงิน (แม่ฮ่องสอน), กระถินป่า กระถินแดง (ตราด), นนทรีบ้าน
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นนนทรี เป็นไม้ต้นผลัดใบขนาดกลาง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง สูง 8-15 เมตร ชอบขึ้นตามป่าชายหาด เปลือกสีเทาค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ทั่วไป เรือนยอดเป็นรูปร่มหรือทรงกลมกลายๆ ตามกิ่งและก้านอ่อนจะมีขนสีน้ำตาลแดงทั่วไป ส่วนกิ่งแก่เกลี้ยง 

ใบนนทรี เป็นช่อเรียงสลับเวียนกันถี่ๆ ตามปลายกิ่งดูเป็นกลุ่ม ช่อหนึ่ง ยาว 20-27 ซม. ประกอบด้วยแขนงใบย่อยที่ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ 9-13 คู่ แขนงย่อยคู่ต้นๆ จะสั้นกว่าคู่ที่ถัดไป แต่คู่ที่อยู่ที่ปลายช่อก็จะสั้นเช่นกัน ใบย่อยเล็กรูปร่างคล้ายเมล็ดข้าวสารแบนๆ กว้างประมาณ 5 มม. ยาว 10-15 มม. โคนใบเบี้ยว ปลายใบทู่ๆ หลังใบสีเขียวเข้มกว่าท้องใบ โคนก้านใบ ก้านแขนงย่อย และก้านช่อบวม หูใบเป็นเส้นเรียว 

ดอกนนทรี ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ตั้งขึ้น โดยจะออกตามง่ามใบหรือที่ปลายกิ่ง มีกิ่งแขนงในช่อดอก ช่อดอกมีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเหลืองสด กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะบางและค่อนข้างยับย่น โคนกลีบมีขนสีน้ำตาลอยู่ประปราย ดอกเมื่อบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 1.6-1.8 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ขอบกลีบวางเกยทับกัน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 อัน โดยทั่วไปจะเริ่มออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม และออกดอกทั้งต้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม แต่อาจขยายเวลาได้ตามลักษณะของดินฟ้าอากาศในแต่ละปี และลักษณะของพันธุกรรมของต้นนนทรีแต่ละต้น 

ผลนนทรี ออกผลเป็นฝัก ฝักมีลักษณะแบนเป็นรูปหอก ปลายฝักและโคนฝักเรียวแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ฝักสดเป็นสีเขียวพอแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในฝักมีเมล็ดวางตัวเรียงขวางกับฝัก ประมาณ 1-4 เมล็ด เมล็ดมีความแข็งแรงมีรูปร่างและขนาดเท่าใบย่อย โดยฝักจะแก่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน

สรรพคุณทั่วไป

  • เปลือกต้นมีรสฝาดร้อน ใช้เป็นยากล่อมเสมหะและโลหิต 
  • เปลือกต้นช่วยปิดธาตุ 
  • เปลือกต้นใช้เป็นยาขับผายลม 
  • เปลือกต้นมีสารแทนนินสูง จึงช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเสียได้ ด้วยการนำเปลือกต้นมาเคี่ยวกับน้ำ 3 ส่วน ให้เหลือ 1 ส่วน แล้วเอาน้ำมากิน 
  • เปลือกต้นช่วยแก้บิด 
  • เปลือกต้นใช้เป็นยาขับโลหิต ขับประจำเดือนของของสตรี 
  • เปลือกต้นใช้เป็นยาสมานแผลสด 
  • ยอดใช้เป็นยาทาแก้โรคเจ็ด (โรคผิวหนังชิดหนึ่ง) โดยใช้ยอด 1 กำมือนำมาตำให้ละเอียดผสมกับไข่ขาว ใช้ทาบริเวณที่เป็น แล้วใช้ผ้าพันทิ้งไว้หนึ่งคืนแล้วค่อยลอกออก 
  • เปลือกต้นนำไปเคี่ยวเข้าน้ำมันเป็นยานวดแก้ตะคริว แก้กล้ามเนื้ออักเสบ

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  เปลือกแก้ท้องร่วง ผายลม
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • นำเปลือกมาเคี่ยวกับน้ำ ใช้เป็นยาทา และเคี่ยวเข้าน้ำมันเป็นน้ำยานวด

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “นนทรี (Non Si)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 149. 
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 278 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “นนทรีจากป่าสู่นาคร”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [24 มี.ค. 2014]. 
  3. พรรณไม้บริเวณพระตำหนักเรือนต้น, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “นนทรี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/palace/chitralada/cld6-2_1.htm. [24 มี.ค. 2014]. 
  4. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “นนทรี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [24 มี.ค. 2014]. 
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “นนทรี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [24 มี.ค. 2014]. 
  6. พืชผักพื้นบ้าน นครศรีธรรมราช 103 ชนิด, เทศบาลเมืองทุ่งสง. “นนทรี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tungsong.com. [24 มี.ค. 2014].