มันสำปะหลัง
  ชื่อสามัญภาษาไทยมันสำปะหลัง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษCassava, Bitter Cassava, Manioc, Sweet Potato Tree, Tapioca plant, Yuca
  ชื่อวิทยาศาสตร์Manihot esculenta Crantz
  ชื่อพ้องManihot utilissima Pohl
  ชื่อวงศ์Euphorbiaceae
  ชื่อท้องถิ่นมันหิ่ว (พังงา), มันสำโรง มันไม้ (ชื่อเดิม), ต้าวน้อย, ต้าวบ้าน (ภาคเหนือ), มันต้นเตี้ย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), สำปะหลัง มันสำโรง (ภาคกลาง), มันเทศ มันต้น มันไม้ (ภาคใต้), ต้าง (คนเมือง, ไทลื้อ), ก๋อนต้ง (ม้ง), โคร่เซาะ (กะเหรี่ยงแดง), หน้อยซิ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), หน่วยเซ่ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ลำหม่อน ไคว่ต้น (ลั้วะ), กวายฮ่อ (ขมุ), ม่ะหนิ่ว (ปะหล่อง), ต้างน้อย, ต้างบ้าน, มันตัน, อุบีกายู
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นมันสำปะหลัง จัดเป็นไม้พุ่ม มีลำต้นตั้งตรง เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความสูงของลำต้นประมาณ 1-5 เมตร มีการแตงกิ่ง กิ่งที่แตกจากลำต้นหลักเรียกว่า “กิ่งชุดแรก” ส่วนกิ่งที่แตกจากิ่งชุดแรกเรียกว่า “กิ่งชุดที่สอง” ต้นมันสำปะหลังจะแตกกิ่งเป็นแบบ 2 กิ่ง หรือ 3 กิ่ง ตามลำต้นจะเห็นรอยก้านใบที่หลุดร่วงไปเรียกว่า “รอยแผลใบ” และในระหว่างแผลใบจะเรียกว่า “ความยาวของชั้น” ส่วนที่อยู่เหนือรอยแผลใบมีตา ทุกส่วนของต้นเมื่อนำมาสับจะมีน้ำยางสีขาวไหลออกมา และรากสะสมอาหารเป็นแท่งหนาอยู่ใต้ดิน มีประมาณ 5-10 รากต่อต้น รากมันสำปะหลัง (หัวมันสำปะหลัง) ระบบรากเป็นแบบรากฝอย รากจะเกิดจากข้อของลำต้นที่ใช้ปลูกและขยายใหญ่เป็นหัว โดยหัวมันสำปะหลังเมื่อนำมาตัดตามขวางจะมีส่วนประกอบดังนี้ คือ เปลือกชั้นนอก เปลือกชั้นใน และส่วนสะสมแป้งหรือที่เรียกว่าไส้กลาง ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่ารากมันสำปะหลังจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ รากจริง และรากสะสมอาหาร (ทั่วไปเรียกว่าหัว) ที่มีปริมาณแป้งประมาณ 15-40% รากสะสมอาหารจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-100 เซนติเมตร 

ใบมันสำปะหลัง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ เกิดเวียนสลับรอบลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปโล่ ขอบใบแยกเป็นแฉกประมาณ 3-9 แฉก เว้าลึกเกือบถึงโคนใบ ในแต่ละแฉกมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ แกมรูปใบหอก หรือแกมรูปดาบ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ มีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ด้านบนเกลี้ยง บางที่เป็นสีแดง ส่วนด้านล่างเป็นสีขาวนวล และอาจมีขนเล็กน้อยตามเส้นใบ ก้านใบเป็นสีแดงเข้ม ยาวประมาณ 5-30 เซนติเมตร ที่โคนก้านใบติดกับลำต้นมีหูใบ หูใบมักเป็นแฉกรูปหอก 3-5 แฉก ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ร่วงได้ง่าย 

ดอกมันสำปะหลัง ออกดอกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร ช่อดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน แต่อยู่คนละตำแหน่ง ใบประดับเป็นรูปยาวแคบ ร่วงง่าย ในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยจำนวนมาก โดยช่อดอกจะเป็นแบบ Panicle ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงดอกยาว 3-8 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ที่ปลายแยกเป็นแฉกสามเหลี่ยม 5 แฉก แต่ไม่มีกลีบดอก ภายในดอกเพศผู้มีก้านเกสรเพศผู้ อับละอองเกสรเพศผู้ เกสรเพศผู้มี 10 อัน เรียงเป็น 2 วง สั้นและยาวสลับกัน ก้านเกสรไม่ติดกัน อับเรณูมีขนาดเล็ก ส่วนดอกเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ มีก้านดอกยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ติดกันที่โคนเพียงเล็กน้อย ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร รังไข่มีสัน 6 สัน และไม่มีขน ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ท่อรังไข่เชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นกลุ่ม 3 กลุ่ม ในแต่ละกลุ่มจะแยกเป็นแขนงเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกจำนวนมาก ดอกเพศเมียจะไม่มีกลีบดอก และดอกจะประกอบไปด้วยรังไข่ 3 คาร์เพล ในแต่ละคาร์เพลมี 1 ออวุล 

ผลมันสำปะหลัง ผลเป็นแบบแคปซูล ผลมีลักษณะกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร เกลี้ยง และมีปีกแคบ ๆ ตามยาว ภายในผลจะมีเมล็ด 3 เมล็ด เมล็ดมันสำปะหลัง เมล็ดเป็นสีน้ำตาลลายดำ ลักษณะคล้ายเมล็ดละหุ่งแต่มีขนาดเล็กกว่า เมล็ดมีลักษณะรี ยาวประมาณ 12 มิลลิเมตร รอยของก้านออวุลที่เหลืออยู่มีลักษณะเป็นสันนูนขึ้นทางด้านหนึ่งของเมล็ด ส่วนด้านล่างของเมล็ดมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ มีสีขาว สีชมพู หรือสีม่วง

สรรพคุณทั่วไป

  • ส่วนของรากหรือหัวมันสำปะหลังเมื่อนำมาใช้ปรุงเป็นอาหาร จะสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ 
  • ใบอ่อนนำมาต้มให้สุกใช้รับประทาน ช่วยแก้โรคขาดวิตามินบี1

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “มันสำปะหลัง”  หน้า 154.
  2. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “มันสำปะหลัง”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/.  [26 พ.ค. 2014].
  3. ระบบข้อมูลทางวิชาการ, กรมวิชาการเกษตร.  “มันสำปะหลัง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: it.doa.go.th/vichakan/.  [26 พ.ค. 2014].
  4. ภาควิชาพืชไร่นา, คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน.  “มันสำปะหลัง (cassava)”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agri.kps.ku.ac.th/agron/.  [26 พ.ค. 2014].
  5. ศูนย์สารสนเทศชุมชน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “มันสำปะหลัง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 202.28.48.140.  [26 พ.ค. 2014].
  6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “Cassava, Manioc, Tapioca”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์), หนังสือสมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 : สมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร ภูติยานันต์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [26 พ.ค. 2014].
  7. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี.  (วันทนีย์ วัฒนาสุรกิตต์).  “Cassava (มันสำปะหลัง)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.sbo.moph.go.th.  [26 พ.ค. 2014].