ฝอยทอง
  ชื่อสามัญภาษาไทยฝอยทอง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษDodder
  ชื่อวิทยาศาสตร์Cuscuta chinensis Lam.
  ชื่อวงศ์Convolvulaceae
  ชื่อท้องถิ่นฝอยไหม (นครราชสีมา), ผักไหม (อุดรธานี), ซิกคิบ่อ ทูโพเคาะกี่ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), เครือคำ (ไทใหญ่, ขมุ), บ่ะเครือคำ (ลั้วะ), กิมซีเช่า โท้วซี (จีนแต้จิ๋ว), ทู่ซือ ทู่ซือจื่อ (จีนกลาง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นฝอยทอง จัดเป็นพรรณไม้จำพวกกาฝากขึ้นเกาะ ดูดน้ำกินจากต้นไม้อื่น มีอายุประมาณ 1 ปี ลำต้นมีลักษณะเป็นเส้นกลม อ่อน แตกกิ่งก้านสาขามากเป็นเส้นยาว มีสีเหลืองทอง ยาวประมาณ 100 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด จัดเป็นพรรณไม้ที่ต้องการความชื้นในปริมาณมาก มักพบขึ้นตามบริเวณพุ่มไม้ที่ชุ่มชื้นทั่วไป ตามสวน เรือนเพาะชำ ริมถนน พื้นที่รกร้างทั่วไป 

ใบฝอยทอง ลักษณะของใบเป็นเกล็ดขนาดเล็ก ๆ รูปสามเหลี่ยม มีจำนวนไม่มาก 

ดอกฝอยทอง ออกดอกเป็นช่อ ดอกย่อยมีจำนวนมาก ไม่มีก้าน มีกลีบเลี้ยงขนาดเล็ก รูปกลมรี ดอกมีขนาดเล็ก ดอกเป็นสีขาว กลีบดอกยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร กลีบดอกที่โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ส่วนปลายกลีบดอกมน แยกออกเป็น 5 แฉก กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมีย 2 อัน 

ผลฝอยทอง ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแบน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร เป็นสีเทา ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-4 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดค่อนข้างกลมรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร เมล็ดเป็นสีเหลืองอมเทา ผิวเมล็ดหยาบ

สรรพคุณทั่วไป

  • ใช้รักษาอาการบิด 
  • ใช้รักษาอาการตกเลือด 
  • แก้อาเจียนเป็นเลือดและไอเป็นเลือด 
  • รักษาอาการเลือดกำเดาไหล 
  • แก้โรคดีซ่าน 
  • แก้ร้อนในกระหายน้ำ 
  • ช่วยขับเหงื่อ 
  • ช่วยขับลม 
  • ใช้รักษาแผลเรื้อรัง แผลคัน ห้ามเลือด 
  • ช่วยบำรุงกำลัง 
  • บำรุงตับไต 
  • บำรุงหัวใจ 
  • แก้ปวดเมื่อย 
  • ช่วยทำให้ตาสว่าง 
  • แก้น้ำกามเคลื่อนเวลาหลับ 
  • มีฤทธิ์บำรุงไต 
  • ช่วยควบคุมการหลั่งของน้ำอสุจิ 
  • รักษากลุ่มอาการของระบบไตพร่อง 
  • แก้ตกขาว 
  • ช่วยให้หยุดถ่าย (เนื่องจากระบบม้ามและไตพร่อง) 
  • ช่วยป้องกันการแท้งลูก (เนื่องจากระบบตับและไตอ่อนแอ ทำให้แท้งง่าย)

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ใช้ต้นฝอยทองเป็นยาบำรุงกำลัง แก้บิด แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้ดีซ่าน ร้อนในกระหายน้ำ ขับเหงื่อ ขับลม บำรุงตับ บำรุงไต โดยใช้เมล็ดแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือนำมาบดให้ละเอียดทำเป็นยาเม็ดหรือทำเป็นยาผงรับประทาน 
  • แก้อาการร่างกายอ่อนเพลีย โดยใช้ลำต้นแห้งประมาณ 10-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำและใช้ผสมกับเหล้าหรือน้ำตาลทรายแดงกินเป็นยา 
  • แก้ลำไส้อักเสบ แก้บิด โดยใช้ต้นสดประมาณ 30 กรัม ((หรือ 1 กำมือ) นำมาต้มกับน้ำผสมกับขิงสด 7 แว่น ดื่ม 
  • ใช้แก้ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว ปวดตามขาปวดน่อง โดยใช้เมล็ดแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาแช่ในเหล้านาน 3-5 วัน แล้วเอาเมล็ดที่แช่มาตากแห้ง จากนั้นนำมาบดให้ละเอียด ใช้กินครั้งละ 6 กรัม วันละ 3 ครั้ง 
  • ใช้แก้ผดผื่นคัน แผลเรื้อรัง ใช้ห้ามเลือด โดยการนำลำต้นนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำทาหรือพอกบริเวณที่เป็นฝ้า 
  • ส่วนในตำราการแพทย์จีนระบุถึงรูปแบบ/ขนาดการใช้ฝอยทองไว้ว่า ช่วยบำรุงน้ำอสุจิในเพศชาย แก้น้ำกามเคลื่อน แก้สมรรถภาพทางเพศชายเสื่อม โดยใช้เมล็ดฝอยทอง 15 กรัม, โต่งต๋ง 12 กรัม, เก๋ากี้ 12 กรัม, โป๋วกุกจี 10 กรัม, เกสรบัวหลวง 7 กรัม, โหงวบี่จี้ 7 กรัม และ เม็ดกุ๋ยฉ่าย 7 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน หรือรวมกันบดให้เป็นผง ส่วนสรรพคุณอื่นๆ ใช้ขนาด 6-12 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม หรือทำเป็นยาเม็ด หรือยาผงรับประทานสำหรับการใช้ภายนอก ใช้บดเป็นผงผสมทาบริเวณที่มีอาการ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์.ก่องกานดา ชยามฤต. ธีรวัฒน์ บุญทวีคูณ (คณะบรรณาธิการ)ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544) สำนักวิชาการป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่2.กรุงเทพมหานคร บริษัทประชาชนจำกัด.2544.
  2. วิทยา บุญวรพัฒน์.  “ฝอยทองเมล็ด”.  หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  หน้า 360.
  3. วุฒิ วุฒิธรรมเวช.คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์.กรุงเทพมหานคร.บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด 2547.
  4. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.  “ฝอยทอง”.  หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  หน้า 513-515.
  5. ชัยโช ชัยชาญทิพยุทธ .วชิรา แดนตะวัน.สถาพร ลิ้มมณี. ชะนะ ครองรักษา. ทิพวัลย์ ทรัพย์เจริญ สมุนไพร อันดับที่03.การรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นสำหรับงานวิจัยของโครงการศึกษาวิจัยสมุนไพร กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2527.
  6. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก.  “ฝอยทอง”  หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  หน้า 127-128.
  7. สารสกัดเมล็ดฝอยทองรูปแบบ Nanoparticles ป้องกันความเป็นพิษต่อตับซึ่งเหนี่ยวนำด้วยสาร acetaminophen ในหนูขาว.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. เมล็ดฝอยทอง:Tusizi.คู่มือการใช้สมุนไพรไทย.จีน.กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขหน้า151-153