มะพูด
  ชื่อสามัญภาษาไทยมะพูด
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษGarcinia
  ชื่อวิทยาศาสตร์Garcinia dulcis (Roxb.) Kurz
  ชื่อวงศ์Clusiaceae
  ชื่อท้องถิ่นไข่จระเข้ ตะพูด ส้มปอง ส้มม่วง (จันทบุรี), พะวาใบใหญ่ (จันทบุรี, ชลบุรี), ปะหูด (ภาคเหนือ), ปะหูด มะหูด (ภาคอีสาน), จำพูด มะพูด (ภาคกลาง), ตะพูด พะวา ประหูด ประโหด ประโฮด มะนู (เขมร), ปะพูด
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะพูดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร ทรงพุ่มมีลักษณะกลม แตกกิ่งก้านมาก ใบหนา ทำให้ทรงพุ่มแลดูหนาทึบ และเป็นร่มเงาได้ดี กิ่งก้านมีลักษณะเป็นเหลี่ยม เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอมดำ มีลักษณะเป็นปุ่มปมตะปุ่มตะป่า หากใช้มีดกรีดเปลือกจะพบยางสีขาวไหลออกมา และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ใบมะพูด 

ใบมะพูดแทงออกเป็นแบบใบเดี่ยว ใบออกตรงกันข้าม ก้านใบสั้น ใบมีขนาดใหญ่ ขนาดกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-25 เมตร แผ่นใบหนา สีเขียวเข้ม ใบยาวรีคล้ายกับใบมังคุด ปลายใบแหลม แผ่นใบด้านล่างมีขนละเอียดปกคลุม 

ดอกมะพูด ดอกออกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 3-5 ดอก ตามง่ามใบ เป็นดอกแยกเพศในต้นเดียวกัน กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม กลีบดอกมีสีขาวอมเหลือง โดยจะเริ่มผลิดอกหลังงอกแล้ว 5-6 ปี 

ผล และเมล็ดมะพูด ผลมะพูดออกตามกิ่ง ติดผลดก มีทั้งเป็นผลเดี่ยว และติดผลเป็นพวง ผลมีลักษณะกลมหรือรูปไข่ ผลมีขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายส้มเขียวหวาน หรือ เท่าขนาดผลลูกท้อหรือแอปเปิ้ล ขนาดยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ทรงกลมป้อม เปลือกผลค่อนข้างหนา และเป็นมัน ผลดิบมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง หรือ เหลืองอมส้ม เนื้อในผลจะมีสีเหลืองส้ม มีลักษณะเป็นเส้นใยนุ่มสีเหลืองประกบกันคล้ายกลีบ นิยมนำมารับประทานสุก มีรสหวานอมเปรี้ยว โดยผลจะทยอยสุกในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม

สรรพคุณทั่วไป

  • น้ำคั้นจากผลมีรสเปรี้ยวอมหวาน ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน 
  • รากมีรสจืด เป็นยาแก้ไข้ ช่วยแก้อาการร้อนใน ช่วยแก้อาการไอ ช่วยแก้อาการเจ็บคอ ช่วยขับเสมหะ กัดเสมหะ 
  • ผลมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยถอนพิษผิดสำแดง ช่วยขับถ่ายโลหิตเสียให้ตก
  • เปลือกต้นมีรสฝาด นำไปต้มกรองเอาแต่น้ำใช้ชำระล้างบาดแผล ช่วยแก้อาการช้ำใน
  • เมล็ดนำมาบดผสมกับน้ำส้มหรือเกลือ ใช้ทาแก้อาการบวม

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

ผลใช้รับประทานสด มีรสเปรี้ยวอมหวาน 
  • ช่วยแก้ไอ แก้อาการเจ็บคอ ช่วยขับเสมหะ 
  • แก้อาการเลือดออกตามไรฟัน 
  • ช่วยบรรเทาอาการโรคเก๊าต์ 
ราก รากนำมาล้างน้ำให้สะอาด ก่อนตัดเป็นชิ้นๆ ใช้ต้มน้ำดื่ม มีรสจืด 
  • ช่วยบรรเทาอาการไข้ ช่วยแก้ร้อนใน 
  • ช่วยถอนพิษผิดสำแดง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “มะพูด (Mapud)“. หน้าที่ 229. 
  2. ข้อมูลพรรณไม้ สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “มะพูด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [12 ม.ค. 2014]. 
  3. งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา. “มะพูด“. (รศ.ชนะ วันหนุน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 158.108.70.5/botanic/. [12 ม.ค. 2014]. 
  4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล. “มะพูด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [12 ม.ค. 2014]. 
  5. ๑๐๘ พรรณไม้ไทย. “มะพูด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com. [12 ม.ค. 2014]. 
  6. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม. “มะพูด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th. [12 ม.ค. 2014]. 
  7. สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร. “มะพูด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.155.220.217/office/ppdd/publicpark/thai/2011/. [12 ม.ค. 2014]. 
  8. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “มะพูด“. อ้างอิงใน: หนังสือไม้อเนกประสงค์กินได้ (คณะอนุกรรมการประสานงานวิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้และไม้โตเร็วอเนกประสงค์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: area-based.lpru.ac.th/veg/. [12 ม.ค. 2014]. 
  9. เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี 29 ธันวาคม 2554. “มะพูด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th. [12 ม.ค. 2014]. 
  10. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “มะพูด“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [12 ม.ค. 2014].