อบเชยไทย
  ชื่อสามัญภาษาไทยอบเชยไทย
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษCinnamon
  ชื่อที่เกี่ยวข้องเชียกใหญ่, จวงดง, เฉียด, ฝนเสน่หา, สมุลแว้ง, มหาปราบ
  ชื่อวิทยาศาสตร์Cinnamomum bejolghota (Buch.-Ham.) Sweet
  ชื่อวงศ์Lauraceae
  ชื่อท้องถิ่นบอกคอก (ลำปาง), พญาปราบ (นครราชสีมา), กระดังงา (กาญจนบุรี), สะวง (ปราจีนบุรี), ฝักดาบ (พิษณุโลก), กระแจะโมง กะเชียด กะทังนั้น (ยะลา), มหาปราบตัวผู้ อบเชย อบเชยต้น (ภาคกลาง), เขียด เคียด เฉียด ชะนุต้น (ภาคใต้), ดิ๊กซี่สอ กัวเล่ะบิ๊ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), กะพังหัน โกเล่ เนอม้า (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), เสี้ยง (ม้ง), ม้าสามเอ็น (คนเมือง), เชียด
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

อบเชยไทยจะพบได้ในป่าเขาที่ยังอุดมสมบูรณ์หรือป่าดงดิบทั่วไปในประเทศไทย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-20 เมตร ทรงพุ่มกลมหรือเป็นรูปเจดีย์ต่ำ ๆ ทึบ เปลือกต้นค่อนข้างเรียบเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาลอมเทา เปลือกและใบมีกลิ่นหอม 

ใบอบเชยไทย ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.5-25 เซนติเมตร แผ่นใบหนา เกลี้ยง แข็ง และกรอบ เส้นใบออกจากโคนมี 3 เส้น ยาวตลอดจนถึงปลายใบ ด้านล่างเป็นคราบขาว ก้านใบยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร 

ดอกอบเชยไทย ออกดอกเป็นช่อแบบกระจายที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นเหม็น ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนหรือสีเขียวอ่อน 

ผลอบเชยไทย ผลมีขนาดเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลแข็ง ตามผิวผลมีคราบขาว แต่ละมีเมล็ดเดียว ฐานรองรับผลมีลักษณะเป็นรูปถ้วย (อบเชยไทยเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดระนอง)

สรรพคุณทั่วไป

  • เปลือกต้นและเนื้อไม้ มีรสเผ็ด หวานชุ่ม มีกลิ่นหอม เป็นยาร้อนออกฤทธิ์ต่อไต ม้าม และกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยกระจายความเย็นในร่างกาย ทำให้เลือดหมุนเวียนดี 
  • เปลือกต้นใช้ปรุงผสมเป็นยาหอมและยานัตถุ์ ทำให้สดชื่น แก้ปวดศีรษะ แก้อาการอ่อนเพลีย 
  • ช่วยบำรุงดวงจิต บำรุงธาตุ ช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย ส่วนใบอบเชยต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ และบำรุงกำลัง 
  • รากอบเชยเทศ มีสรรพคุณช่วยปลุกธาตุให้เจริญ แก้พิษร้อน ส่วนเปลือกต้นอบเชยเทศมีสรรพคุณปลุกธาตุอันดับให้เจริญ 
  • อบเชยจีนมีรสเผ็ดอมหวาน มีฤทธิ์ร้อน ช่วยบำรุงธาตุไฟในระบบไต ตับ ม้าม และหัวใจ 
  • อบเชยสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ ด้วยการใช้ผงอบเชยที่หาซื้อได้ทั่วไปที่เป็นแท่งนำมาบด โดยให้ใช้ผงอบเชยหนัก 1 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น 
  • ใช้ปรุงเป็นยานัตถุ์รับประทานแก้เบื่ออาหาร เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ และช่วยทำให้เจริญอาหาร

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

เปลือก
  • หอมหวาน บำรุงดวงจิต แก้อ่อนเพลัน ทำให้มีกำลัง ขับผายลม
  • เปลือกต้ม หรือทำเป็นผง แก้โรคหนองในและแก้โทษน้ำคาวปลา
  • ใช้เป็นยานัตถุ์ แก้ปวดศีรษะ ปรุงรับประทานเป็นยาบำรุงกำลัง และปรุงเป็นยาแก้บิด และไข้สันนิบาต
ใบ 
  • เป็นสมุนไพรหอม ปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียนและจุกเสียดแน่นและลงท้อง เป็นยาบำรุงกำลัง และบำรุงธาตุ
รากกับใบ 
  • ต้มน้ำรับประทาน แก้ไข้เนื่องจากความอักเสบของสตรีที่คลอดบุตรใหม่ๆ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “อบเชย”. หน้า 195. 
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “อบเชย”. หน้า 83. 
  3. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “อบเชย” หน้า 207-209. 
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “อบเชยจีน”. หน้า 642. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “อบเชย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [29 ก.ค. 2014]. 
  5. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “อบเชยเทศ”, “อบเชยต้น (เชียด)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [29 ก.ค. 2014]. 
  6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “เชียด, ม้าสามเอ็น, อบเชยไทย, อบเชยต้น”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)., หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [29 ก.ค. 2014]. 
  7. ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “เชียด, อบเชยต้น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [29 ก.ค. 2014]. 
  8. พันธุ์ไม้มงคลพระราชทาน, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “อบเชย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th/pattani_botany/. [29 ก.ค. 2014]. 
  9. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย. (วุฒิ วุฒิธรรมเวช). “อบเชย”. หน้า 195. ไทยเกษตรศาสตร์. “อบเชย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [29 ก.ค. 2014].