บอระเพ็ดตัวผู้
  ชื่อสามัญภาษาไทยบอระเพ็ดตัวผู้
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษHeart-leaved Moonseed, Gulancha Tinospora
  ชื่อที่เกี่ยวข้องชิงช้าชาลี (บอระเพ็ดตัวผู้)
  ชื่อวิทยาศาสตร์Tinospora baenzigeri Forman
  ชื่อวงศ์Menispermaceae
  ชื่อท้องถิ่นจุ่งจะลิงตัวแม่ (ภาคเหนือ)/ จุ่งจะริงตัวพ่อ (ภาคเหนือ)/ บรเพ็ชร บรเพ็ชร์ ชิงชาลี (ภาคกลาง)/ ตะซีคี ตะคี ตะซีคิ (กะเหรี่ยง ภาคเหนือ)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

บอระเพ็ดตัวผู้ หรือต้นชิงช้าชาลี เป็นไม้เถาเลื้อย พาดพันต้นไม้อื่น ตามเถามีรูอากาศสีขาว เถามีลักษณะกลมและเหนียว ตามเถามีปุ่มปมเล็กน้อย เถาอ่อนเป็นสีเขียว ทุกส่วนมีรสขม โดยเฉพาะเถาแก่ 

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้า ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร เนื้อใบบาง หลังใบและท้องใบเรียบ ด้านหลังใบใกล้กับโคนใบมีปุ่มเล็ก ๆ 2 ปุ่มอยู่บนเส้นใบ ก้านใบยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร 

ดอก ออกดอกเป็นช่อ โดยช่อดอกจะออกตามเถาและตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีครีมมีขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอก ดอกมีเกสรเพศผู้ยาวพ้นออกจากดอก 

ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลสดเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองใส เนื้อผลฉ่ำน้ำเป็นสีขาวใส เมล็ดเดี่ยวสีดำหรือสีเทาค่อนข้างดำ ผิวเมล็ดขรุขระ

สรรพคุณทั่วไป

ตำรายาไทย 
  • เถา รสขม สรรพคุณ แก้พิษฝีดาษ แก้ไข้เหนือ ไข้เพื่อโลหิต แก้ฝีกาฬ บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ เจริญอาหาร ทำให้เลือดเย็น แก้มะเร็ง 
  • ใบ รสขมเมา สรรพคุณ ฆ่าพยาธิผิวหนัง แก้มะเร็ง 
  • ดอก รสขมเมา สรรพคุณ ขับพยาธิในท้อง แก้รำมะนาด ปวดฟัน แก้แมลงเข้าหู

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • เถา ใช้เป็นยาแก้ไข้ ไข้กาฬ ไข้เหนือ ไข้มาลาเรีย ไข้มาลาเรียที่จับเว้นระยะ (antiperiodic) ทำให้เลือดเย็น (สามารถนำมาใช้แทนเถาบอระเพ็ดได้) 
  • ใบและเถาสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ 
  • ปลูกเป็นไม้เลื้อยประดับทั่วไป เจริญเติบโตเร็ว ไม่ต้องการดูแลรักษามาก 
  • เถาที่โตเต็มที่แล้วนำมาจัดโยงให้แน่นระหว่างเสาหรือต้นไม้ใหญ่ ทำเป็นชิงช้าสำหรับเด็ก ๆ ใช้แกว่งไกวเล่น

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. https://thai-herbs.thdata.co/page/ชิงช้าชาลี-บอระเพ็ดตัวผู้/ 
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ชิงช้าชาลี (Chingcha Chali)”. หน้า 106. 
  3. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ชิงช้าชาลี”. หน้า 110. 
  4. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ชิงช้าชาลี Heart-leaved Moonseed”. หน้า 203. 
  5. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ชิงช้าชาลี”. หน้า 269-270. 
  6. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ชิงช้าชาลี”. หน้า 81-82. 
  7. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ชิงช้าชาลี”. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [05 ม.ค. 2015].