ข่อยหยอง
  ชื่อสามัญภาษาไทยข่อยหยอง
  ชื่อวิทยาศาสตร์Rinorea virgata (Thwaites) Kuntze
  ชื่อพ้องScyphellandra pierrei H. Boissieu
  ชื่อวงศ์Annonaceae
  ชื่อท้องถิ่นข่อยหิน เฮาสะท้อน เฮาะสะต้อน (เชียงใหม่), หัสสะท้อน (เชียงราย), ข่อยนั่ง (ลำปาง), ชาป่า (จันทบุรี), ข่อยป่า (ตราด), คันทรง คันเพชร (สุราษฎร์ธานี), ข่อยหยอง ผักกรูด (ประจวบคีรีขันธ์), หัสสะท้อน (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), กะชึ่ม, ข่อยเตี้ย, ข่อยหนาม
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นข่อยหยอง จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 10 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเทาปนสีน้ำตาลอ่อน หรือเป็นสีเทาค่อนข้างขาว มีหนามแหลมยาวออกตามลำต้นและกิ่งก้าน ไม่มียาง เนื้อไม้เหนียว ส่วนบนค่อนข้างคดงอเป็นปุ่มปมและเป็นร่องเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้กับทุกสภาพดิน ชอบความชื้นและแสงแดดในระดับปานกลาง เป็นพรรณไม้ที่ชอบขึ้นตามป่าบนเนินเขาทั่วทุกภาคของประเทศ มีถิ่นกำเนิดในแถบอินโดจีนและมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ที่ปากถ้ำวิมานจักรี จังหวัดสระบุรี และที่เขากระวาน จังหวัดจันทบุรี และตำบลทุ่งกร่าง

ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน ใบมีลักษณะกลม ส่วนริมขอบใบจักไม่เรียบและมีหนามแหลม

ดอก ออกดอกเป็นช่อขนาดเล็ก มีสีขาวและเหลือง

ผลมีลักษณะกลม มีขนาดเท่าหัวเข็มหมุด ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีขาวหรือสีเทา เปลือกด้านในมียางสีขาว ผลเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

สรรพคุณทั่วไป

  • เนื้อไม้และรากใช้เป็นยารักษาโรคกษัย ไตพิการ 
  • เนื้อไม้และรากใช้ปรุงเป็นยาขับเมือกในลำไส้ 
  • เนื้อไม้และรากใช้ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ 
  • ใบข่อยหยองมีรสเมาเฝื่อน ใช้ตำกับข้าวสารคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาถอนพิษยาเบื่อยาเมา หรืออาหารแสลง

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ข่อยหยอง”.  หน้า 99.
  2. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “ข่อยหยอง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com.  [04 มิ.ย. 2015].
  3. คมชัดลึกออนไลน์.  (นายสวีสอง).  “ข่อยหยอง เนื้อ-รากเป็นยา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.komchadluek.net.  [04 มิ.ย. 2015].