มะพร้าว
  ชื่อสามัญภาษาไทยมะพร้าว
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษCoconut
  ชื่อที่เกี่ยวข้องมะพร้าว, หมากอูน, หมากอุ๋น
  ชื่อวิทยาศาสตร์Cocos nucifera Linn.
  ชื่อวงศ์Arecaceae
  ชื่อท้องถิ่นบะป้าว (ภาคเหนือ), บักพร้าว (ภาคอีสาน), พร้าว (ภาคใต้), ดุง (จันทบุรี), เฮ็ดดุง (เพชรบูรณ์), ยอ (ยะลา), คอส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), โพล (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), กลาปอ (มลายู), เอี่ยจี้ (จีน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะพร้าวมีลำต้นตั้งตรงสูงชะลูดประมาณ 20 - 30 เมตร มีรอยเป็นปล้องถี่ตลอดลำต้น ลักษณะกลม เปลือกต้นแข็งสีเทา ขรุขระ ไม่มีกิ่งก้านสาขา ซึ่งช่วงแรกจะเจริญเติบโตในทางกว้างหรือหนาจนได้ขนาดแล้วจึงขยายทางด้านความสูง 

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับกันบนก้าน ลักษณะใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ โคนใบตัด ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบเรียบแคบยาวมีสีเขียว เส้นกางใบเป็นก้านแข็ง เส้นใบขนานตามยาวของแผ่นใบ ก้านใบหรือทางมะพร้าวจะเกิดที่ยอด 

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ออกช่อตามบริเวณกาบที่หุ้ม ในช่อหนึ่งมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย โดยดอกเพศผู้จะอยู่ปลายช่อ ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่บริเวณโคนช่อ ดอกย่อยมีขนาดเล็กแบบสมมาตรตามรัศมี มีกลีบดอกรวมสองชั้นๆ ละ 3 กลีบ มีสีขาวนวล ช่อดอกมะพร้าวเรียกว่า จั่น และถ้ามีกาบหุ้มเรียกว่า งวงมะพร้าว 

ผล เป็นผลเดี่ยวเมล็ดเดียว แข็ง ลักษณะเป็นรูปทรงกลมโต มีเปลือกผลเป็นเส้นใยหนา ผิวเปลือกเรียบเกลี้ยง เป็นมันมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาล ออกผลเป็นพวงเรียกว่า ทะลาย เมล็ด กลมมีเอนโดสเปิร์ม (endosperm : อาหารสำหรับเลี้ยงต้นอ่อน) มีเปลือกแข็งเรียกกว่า กะลา มีเนื้อในสีขาวอยู่ในกะลา ภายในเมล็ดจะกลวง เมื่อผลยังอ่อนจะมีน้ำมะพร้าวเต็ม

สรรพคุณทั่วไป

  • ช่วยห้ามเลือด
  • แก้ปวด
  • ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง
  • แก้ร้อนใน
  • แก้กระหายน้ำ
  • ช่วยลดอาการบวม
  • แก้พิษ
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้นิ่ว
  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้กลากเกลื้อน
  • ช่วยบำรุงร่างกาย
  • ช่วยขับพยาธิตัวตืด
  • แก้ปวดฟัน
  • แก้อาเจียน
  • แก้ปากเจ็บ
  • แก้หิด

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ใช้ขับพยาธิตัวตืด หรือพยาธิใบไม้ในลำไส้ โดยให้กินเนื้อมะพร้าวครึ่งลูก ทุกเช้า ตอนท้องว่าง หลังจากนั้น 3 ชั่วโมงค่อยกินอาหาร 
  • แก้กลาก โดยใช้น้ำมันมะพร้าวเคี่ยวให้ร้อน ทิ้งไว้ให้พออุ่น  ทาบริเวณที่เป็นวันละหลายๆครั้ง หรือใช้ถ่านกะลาที่เผาจากกะลามะพร้าวนำไปบดผสมน้ำนิดหน่อยทาก็ได้
  • แก้เลือดกำเดาออก ใช้เปลือกต้นมะพร้าวจำนวนพอควรต้มกินน้ำ
  • รักษาโรคเบาหวาน ใช้เนื้อมะพร้าวมาคั่วให้เหลือง โรยเกลือเล็กน้อย แล้วนำมารับประทานครั้งละ 1 ช้อนแกง เช้า กลางวัน เย็น ประมาณ 10 วัน
  • แก้ท้องเสีย ด้วยการใช้รากมะพร้าวทุบให้แตก 3 กำมือ ต้มน้ำ 5 แก้ว เคี่ยวให้เหลือ 2 แก้ว แบ่งรับประทานครั้งละครึ่งแก้ว เช้า กลางวัน เย็น
  • แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการใช้กะลามะพร้าวมาเผาไฟจะได้เป็นถ่านแล้วนำมาบดเป็นผงรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ
  • แก้ปากเจ็บ โดยการนำรากมะพร้าวมาต้มกับน้ำใช้อมกลั้วปาก เช้า กลางวัน เย็น
  • แก้กระหายช่วยแก้พิษ ขับปัสสาวะ ลดบวม
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้นิ่ว ให้ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนวันละ 2-3 แก้ว

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. ฤทธิ์สมานแผลของน้ำมะพร้าวอ่อน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. รศ.วิมล ศรีสุข . น้ำมะพร้าว...เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติ.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. น้ำมะพร้าวอ่อนกับผลต่อมวลกระดูกและสร้างกระดูกในหนูที่ถูกตัดรังไข่.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. วิทิต วัฒนาวิบูล.มะพร้าว กลูโคสธรรมชาติ.คอลัมน์อาหารสมุนไพร.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่87.กรกฎาคม 2529.
  5. สารสกัดจากกะลามะพร้าวช่วยลดความดันโลหิต.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ฤทธิ์ฆ่าพยาธิของสารสกัดจากเปลือกมะพร้าว.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. มะพร้าว.กลุ่มยาแก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_10_6.htm
  8. มะพร้าว,มะเฟือง,มะไฟ ผลไม้สารพัดประโยชน์.พบแพทย์ดอทคอม(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.pabpad.com