ขานาง
  ชื่อสามัญภาษาไทยขานาง
  ชื่อวิทยาศาสตร์Homalium tomentosum (Vent.) Benth.
  ชื่อวงศ์Flacourtiaceae
  ชื่อท้องถิ่นขานาง (ภาคกลาง เชียงใหม่ จันทบุรี) ขางนาง คะนาง (ภาคกลาง) ค่านาง โคด (ระยอง) ช้างเผือกหลวง (เชียงใหม่) แซพลู้ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ปะหง่าง (ราชบุรี) เปลือย (กาญจนบุรี) เปื่อยคะนาง เปื๋อยนาง (อุตรดิตถ์) เปื๋อยค่างไห้ (ลำปาง) ลิงง้อ (นครราชสีมา) แลนไฮ้ (ลาว-แม่สอด)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ขานางเป็นไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ 15-30 ม. ลำต้นกลมตรง เปลือกลางเรียบ สีขาวหรือสีเทาอ่อน ที่โคนต้นมีพูพอน

ใบเดี่ยว ออกเวียนสลับกับตอนปลาย ๆ กิ่ง รูปไข่กลับ ถึงรูปไข่กลับแกมขอบขนาน กว้าง 4-7 ซม. ยาว 10-15 ซม. ปลายใบกลมมน หรือ เป็นติ่งแหลม โคนสอบแคบ โคนสุดมน ขอบใบจักมนตื้นและห่าง ๆ ด้านล่างมีขนสากหนาแน่น เส้นใบมีประมาณ 12 คู่ เกือบขนานกัน ก้านใบอ้วนสั้น ยาว 1-3 ซม.

ดอกเล็ก สีเขียว ออกเป็นช่อยาวตามง่ามใบ ช่อดอกยาว 10-35 ซม. ห้อยลง ไม่มีก้านดอก ติดเป็นกระจุก ๆ เวียนกันบนแกนดอกกระจุกละ 2-3 ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นรูปกรวย มีขน ปลายแยกเป็น 5-6 แฉก กลีบดอกติดอยู่ในท่อกลีบเลี้ยง กลีบดอกแต่ละกลีบจะมีเกสรเพศผู้ติดอยู่ ก้านเกสรยาวประมาณ 2 มม. รังไข่มี 1 ช่อง ผนังรังไข่ติดกับผนังด้านในของท่อกลีบเลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียมี 2-3 อัน แยกจากกัน หรือ ติดกันเพียงเล็กน้อยที่โคนก้าน

ผลเล็ก ยาวประมาณ 3 มม. เป็นชนิดผลแห้งแก่ไม่แตก ภายในมีเพียง 1 เมล็ด

สรรพคุณทั่วไป

  • ราก น้ำต้มรากเป็นยาฝาดสมาน
  • ลำต้น ต้มน้ำดื่ม แก้อัมพฤกษ์

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล. (2548). สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 5 สมุนไพรพื้นบ้านอีสาน. หน้า 93.