ตะคร้อ
  ชื่อสามัญภาษาไทยตะคร้อ
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษCeylon oak
  ชื่อวิทยาศาสตร์Schleichera oleosa (Lour.) Merr.
  ชื่อพ้องPistacia oleosa Lour., Schleichera oleosa (Lour.) Oken
  ชื่อวงศ์Sapindaceae
  ชื่อท้องถิ่นกาซ้อง คอส้ม (เลย), เคาะ (นครพนม, พิษณุโลก), ค้อ (กาญจนบุรี), เคาะจ้ก มะเคาะ มะจ้ก มะโจ้ก (ภาคเหนือ), ตะคร้อไข่ (ภาคกลาง), ซะอู่เสก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กาซ้อ คุ้ย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ปั้นรั้ว (เขมร-สุรินทร์), ปั้นโรง (เขมร-บุรีรัมย์), บักค้อ ตะค้อ หมากค้อ
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    ต้นตะคร้อ มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ในต่างประเทศสามารถพบได้ที่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีนและอินโดนีเซีย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-25 เมตร แตกกิ่งก้านต่ำ เรือนยอดมีลักษณะเป็นทรงพุ่มแผ่กว้าง กิ่งก้านมักคดงอ ลำต้นเป็นปุ่มปมและพูพอน เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเป็นสีน้ำตาลเทา เปลือกแตกเป็นสะเก็ดหนา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยสามารถพบได้ตามป่าผลัดใบ ป่าดิบเขา และตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ที่ระดับความสูงถึง 1,200 เมตร

    ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายใบออกเป็นคู่ออกเรียงเวียนสลับเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ใบย่อยติดเรียงตรงข้ามหรืออาจเยื้องกันเล็กน้อยประมาณ 1-4 คู่ โดยใบคู่ปลายสุดของช่อใบจะมีขนาดใหญ่และยาวที่สุด ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี หรือรูปรีขอบขนาน ปลายใบมนหรือหยัก มีหางสั้น ๆ หรือติ่งสั้น ๆ โคนใบมนหรือสอบและมักเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4.5-12 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-25 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนาเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย มองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน เส้นแขนงใบมีประมาณ 8-16 คู่ ปลายเส้นจรดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบย่อยจะสั้นมาก ส่วนก้านช่อใบยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร โดยใบอ่อนมีขนเล็กน้อยตามเส้นใบ

    ออกดอกเป็นช่อปลายยอดหรือตามซอกใบ ช่อดอกมีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร และช่อดอกมีลักษณะเป็นพวงแบบหางกระรอกห้อยลง ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ๆ กลีบเลี้ยงหรือกลีบรวมมีขนาดเล็กมาก มีแฉกแหลม 5 แฉก ดอกไม่มีกลีบดอก มีเกสรเพศผู้ประมาณ 6-8 ก้าน ส่วนรังไข่มีลักษณะกลมและมี 3 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 1 ออวุล เกสรเพศเมียส่วนปลายแยกเป็นแฉก 3 แฉก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน

    ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร ปลายผลเป็นจะงอยแหลมและแข็ง เปลือกผลหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวผลเกลี้ยงเป็นสีเขียวอมน้ำตาลหรือเป็นสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ด 1-2 เมล็ด มีเนื้อหุ้มเมล็ดใสสีเหลือง ลักษณะฉ่ำน้ำ และมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานได้ โดยจะออกผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม

สรรพคุณทั่วไป

  • ราก เปลือกราก หรือทั้งห้าส่วนเป็นยาแก้กษัย
  • ใช้ใบเป็นยาแก้ไข้ โดยใบแก่นำมาขยี้กับน้ำแล้วนำมาเช็ดตัว
  • เนื้อผลเป็นยาระบาย รับประทานมากไปจะทำให้ท้องเสียได้
  • เปลือกต้นเป็นยาสมานท้อง
  • ช่วยแก้อาการท้องร่วง บ้างว่าใช้แก้บิด มูกเลือดได้ด้วย โดยนำเปลือกต้นมาตำกิน
  • เปลือกต้นตะคร้อนำมาแช่กับน้ำดื่มแก้อาการท้องเสีย โดยใช้ร่วมกับเปลือกต้นมะกอก เปลือกต้นเป๋ยเบาะ เปลือกต้นตะคร้ำ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ทั้งห้าส่วนเป็นยาแก้ริดสีดวงภายนอกและภายใน
  • น้ำต้มจากเปลือกต้นตะคร้อช่วยรักษาอาการปวดประจำเดือนได้
  • ใบใช้ตำพอกรักษาฝี
  • ทั้งห้าส่วนเป็นยาแก้ฝีในกระดูก ปอด กระเพาะ ลำไส้ ตับ และม้าม
  • ใบแก่นำมาเคี้ยวให้ละเอียด ใช้ใส่แผลสดเพื่อปิดปากแผลไว้ จะช่วยห้ามเลือดได้
  • ช่วยรักษาบาดแผลสดจากของมีคม ด้วยการนำเปลือกต้นบริเวณลำต้นที่วัดความสูงตามบาดแผลที่เกิด ขูดเอาเปลือกตะคร้อ นำมาผสมกับยาดำ แล้วนำมาพอกบริเวณบาดแผล
  • รากเป็นยาถอนพิษ เช่น อยากหยุดเหล้า ก็ให้นำน้ำต้มกับรากมาผสมกับเหล้าและใช้ดื่มตอนเมาจะทำให้ไม่อยากกินอีก ปริมาณการใช้เท่ากับราก 1 กำมือผู้กิน เหล้า 1 ก๊ง
  • ใบใช้ปรุงเป็นยาถ่ายพิษฝี ถ่ายเส้น ถ่ายกษัย
  • รากหรือเปลือกรากช่วยทำให้เส้นเอ็นหย่อน แก้เส้นเอ็น ช่วยถ่ายฝีภายใน
  • เปลือกนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ฝีหนอง (ส่วนแก่นตะคร้อก็ใช้ได้เช่นกัน)
  • น้ำมันจากเมล็ดสามารถนำมาใช้นวดแก้อาการปวดไขข้อได้
  • น้ำมันจากเมล็ดตะคร้อ ช่วยแก้ผมร่วง (น้ำมันจากเมล็ด)
  • น้ำมันสกัดจากเมล็ดสามารถนำมาใช้รักษาอาการคัน สิว แผลไหม้ได้

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ตะคร้อ (Ta Khro)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 121.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ตะคร้อ”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 97.
  3. พืชและสัตว์ท้องถิ่นภูพาน, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร. “ตะคร้อ”. (ไพร มัทธวรัตน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pineapple-eyes.snru.ac.th/animal/pupan/. [9 มี.ค. 2014].
  4. https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=85&code_db=610010&code_type=01 https://health.kapook.com/view87982.html