มะพลับ
  ชื่อสามัญภาษาไทยมะพลับ
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษBo Tree, , Sacred fig tree, Pipal tree, Peepul tree
  ชื่อวิทยาศาสตร์Diospyros malabarica (Desv.) Kostel. var. siamensis (Hochr.) Phengklai
  ชื่อพ้องDiospyros siamensis Hochr.
  ชื่อวงศ์Ebenaceae
  ชื่อท้องถิ่นขะนิง ถะยิง (นครราชสีมา), มะเขื่อเถื่อน (สกลนคร), ตะโกสวน ปลาบ (เพชรบุรี), ตะโกไทย (ภาคกลาง), ตะโกสวน พลับ มะพลับใหญ่ (ทั่วไปเรียก), มะสุลัวะ (ลำปาง-กะเหรี่ยง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นมะพลับจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นเปลาตรง มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร ทรงพุ่มกลมทึบ เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทาปนดำ หรือบางทีแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามยาว ส่วนเนื้อไม้เป็นสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย มีน้ำและความชื้นปานกลาง และชอบแสงแดดจัด มะพลับเป็นไม้ป่าดงดิบ พบขึ้นในป่าที่ลุ่มต่ำบริเวณกันชนระหว่างป่าบกและป่าชายเลน ชายป่าพรุ บริเวณชายคลอง ป่าดิบใกล้แหล่งน้ำ ป่าละเมาะริมทะเล และตามเรือกสวนทั่วไป ที่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 2-30 เมตร (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าประมาณ 50-400 เมตร) ในประเทศไทยพบได้ทางภาคใต้ ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่มาเลเซีย

ใบมะพลับ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอกกลับ ปลายใบแหลมทู่ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร เนื้อใบหนา หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบแต่มีสีอ่อนกว่า หรือมีขนประปรายบ้างตามเส้นกลางใบด้านล่าง โดยมีเส้นใบประมาณ 6-12 คู่ แต่ละเส้นมีลักษณะคดงอไปมา พอมองเห็นได้ทั้งสองด้าน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และมีขนประปราย

ดอกมะพลับ ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่กันคนละต้น ดอกเพศผู้จะออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ โดยจะออกตามซอกใบ ก้านดอกยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร และมีขนอยู่หนาแน่น มีกลีบดอก 4-5 กลีบ ยาวประมาณ 7-15 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมียจะออกดอกเดี่ยว สีเหลือง ก้านดอกยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร และมีขนคลุมแน่น ที่โคนเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็นแฉกแบบตื้น ๆ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน

ผลมะพลับ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ที่โคนและปลายผลบุ๋ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงมีขนสีน้ำตาลแผ่กว้างแนบกับส่วนล่างของผล ขอบกลีบเป็นคลื่น ๆ กลีบไม่พับกลับ ผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มเหลือง ผลสุกหรือผลแก่จะค่อนข้างนุ่ม ผิวมีเกล็ดสีน้ำตาลแดงคลุม เกล็ดเหล่านี้จะหลุดได้ง่าย ภายในมีเมล็ด 8 เมล็ด เป็นสีน้ำตาลดำทรงรีแป้น มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2 เซนติเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม

สรรพคุณทั่วไป

  • เปลือกต้นมีรสฝาดใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุ 
  • ใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยทำให้เจริญอาหาร 
  • ปลือกต้นเป็นยาลดไข้ 
  • เปลือกและผลอ่อนใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย 
  • เปลือกและผลแก่มีรสฝาดหวาน ใช้เป็นยารักษาแผลในปาก แก้คออักเสบ ด้วยการใช้เปลือกและผลแก่นำมาต้มเป็นยาอม กลั้วคอ 
  • ช่วยขับผายลม 
  • เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้ท้องร่วง ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าการใช้เป็นยาแก้บิด แก้ท้องร่วงให้ใช้เปลือกและผลอ่อนนำมาต้มกับน้ำรับประทาน 
  • เปลือกต้นนำมาย่างให้กรอบชงกับน้ำดื่ม เป็นยาแก้กามตายด้าน แก้ความกำหนัด บำรุงความกำหนัด 
  • เปลือกต้นใช้เป็นยาทาสมานบาดแผลและช่วยห้ามเลือด ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้ผลดิบเป็นยาห้ามเลือด และใช้เปลือกและผลอ่อนนำมาต้มเอาน้ำใช้ชะล้างบริเวณบาดแผล สมานแผล

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

ตามตำรายาไทยกล่าวว่า 
  • เปลือกต้นและเนื้อไม้มีรสฝาดมีสรรพคุณ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้บิด แก้ท้องร่วง ขับผายลม แก้กามตายด้าน บำรุงความกำหนัด เป็นยาสมานแผล และห้ามเลือด
  • ผลแก่รับประทานได้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. https://th.wikipedia.org/wiki/
  2. มะพลับ หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “มะพลับ (Ma Phlap)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 228. สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก. “มะพลับ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: webhost.cpd.go.th/plkcoop/download/b006.pdf. [17 พ.ค. 2014].
  3. สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร. “มะพลับ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: minpininteraction.com. [17 พ.ค. 2014]. 
  4. ศูนย์การเรียนคณิตศาสตร์ Online . “ต้นไม้ประจำจังหวัดอ่างทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/mc41/. [17 พ.ค. 2014]. 
  5. สถาบันการแพทย์แผนไทย. “มะพลับ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th. [17 พ.ค. 2014]. 
  6. สถาบันการแพทย์แผนไทย. “ตะโกสวน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th. [22 ธ.ค. 2014].