สบู่เลือด
  ชื่อสามัญภาษาไทยสบู่เลือด
  ชื่อวิทยาศาสตร์Stephania venosa Spreng.
  ชื่อพ้องClypea venosa Blume
  ชื่อวงศ์Menispermaceae
  ชื่อท้องถิ่นเป้าเลือด เปล้าเลือด เปล้าเลือดเครือ ชอเกอโท (ภาคเหนือ), กระท่อมเลือด (ภาคอีสาน), กลิ้งกลางดง (ภาคตะวันตกเฉียงใต้), บอระเพ็ดยางแดง (ชายฝั่งทะเลภาคใต้), ฮ่อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ท่อมเลือด เป้าเลือดโห ยาปู่หย่อง 
 
 
สรรพคุณทั่วไป

  • หัวว่านสบู่เลือด นำมาดองกับเหล้ากินเป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยทำให้กระชุ่มกระชวย สุขภาพแข็งแรง (หัว)
  • หัวมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำหนัด (หัว)
  • ช่วยบำรุงธาตุไฟในร่างกาย (ใบ)
  • หัวนำมาตากแห้งแล้วบดเป็นผงปั้นเป็นลูกกลอนไว้กินเป็นยาอายุวัฒนะ (หัว)
  • รากช่วยบำรุงประสาท บำรุงเส้นประสาท ป้องกันโรคความจำเสื่อม (ราก, ใบ)
  • ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้ไมเกรน (หัว)
  • หัวใช้ผสมกับยาสมุนไพรอื่น ๆ (ไม่ระบุ) มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน (หัว)
  • มีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาใช้เป็นยาป้องกันโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากกระท่อมเลือดมีสารที่มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งเอนไซม์ Acetylcholine esterase ทั้งยังพัฒนาเพื่อใช้เป็นยาต้านมะเร็งอีกด้วย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร (หัว)
  • ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  • ช่วยรักษาอาการผอมแห้ง (หัว)
  • ด้วยการใช้หัวนำมาต้มอาบหรือต้มกินเป็นยาบำรุงของสตรี แก้อาการผอมแห้ง หน้าตาซีดเซียวไม่มีน้ำมีนวล ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงได้ แต่การใช้สมุนไพรชนิดนี้ต้องระมัดระวังสักหน่อยหากนำมาใช้กับสตรี (หัว)
  • ช่วยรักษาโรคมะเร็งต่าง ๆ (หัว)
  • ช่วยรักษาโรคหัวใจ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  • ช่วยรักษาโรคเบาหวาน (หัว)
  • ช่วยรักษาโรคโลหิตจาง คนเลือดจางหรือเลือดน้อยให้ใช้หัวนำมาต้มกิน (หัว)
  • ช่วยแก้เลือดลม ช่วยลดความดันโลหิต (หัว)
  • ช่วยแก้ปอดพิการ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  • ช่วยกระจายลมที่แน่นในอก (เถา, ต้น)
  • ช่วยรักษาโรคลมชักหรือลมบ้าหมู โดยในตำราพระเทพระบุว่าให้ใช้สมุนไพรสบู่เลือดที่มีสีแดงเรื่อ ๆ (สีขาวไม่ใช้) ประมาณ 3 กิโลกรัมขึ้นไปเพื่อความเข้มข้นของยา นำหัวมาหั่นเป็นแว่น ๆ แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง หลังจากนั้นนำมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทรา ใช้กินก่อนอาหารเช้า เที่ยง และเย็น กินไปประมาณ 4-6 ปีอาการจะหายขาด (หัว)
  • หัวใช้ต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้ไข้ ลดไข้ของเด็กได้ (หัว, ราก)
  • เปลือกและใบใช้ต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้ไข้มาลาเรียได้ (เปลือก, ใบ)
  • ช่วยแก้หอบหืด ด้วยการใช้หัวนำมาต้มกับน้ำดื่ม (หัว, ราก)
  • หัวใช้ดองกับเหล้ากินช่วยขับเสมหะ (หัว)
  • ส่วนหนามของว่านสบู่เลือดช่วยแก้เสมหะในคอและทรวงอก (ต้น, หนาม)
  • ช่วยแก้บิด (หัว, ราก)
  • ช่วยขับผายลม (หัว)
  • ช่วยในการย่อยอาหาร (ดอก, ผล) ช่วยทำให้อุจจาระละเอียด (ดอก)
  • เถานำมาต้มกินเป็นยาขับพยาธิในลำไส้ (เถา)
  • ดอกว่านสบู่เลือดช่วยฆ่าแม่พยาธิอันเกิดจากโรคเรื้อนและกุฏฐัง (ดอก)
  • หนามของว่านสบู่เลือดช่วยแก้โลหิตอันเน่าในท้องในตกใน (หนาม)
  • เถาใช้ปรุงเป็นยาขับโลหิตระดูของสตรีได้ (เถา)
  • ช่วยแก้อาการตกเลือดของสตรี แก้มุตกิดระดูขาวหรือตกขาวได้อย่างชะงัด ด้วยการใช้หัวสบู่เลือดสด ๆ นำมาหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ สัก 3-4 แว่นตำละเอียด ผสมรวมกับน้ำซาวข้าวหรือเหล้าขาว 40 ดีกรี แล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำมากิน 1 ถ้วยชา ในช่วงเช้า เย็น และก่อนนอน (หัว)
  • หัวใช้ต้มกิน ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติของสตรีได้ (หัว)
  • ใบสามารถนำมาใช้รักษาแผลสดและแผลเรื้อรังได้ (ใบ)
  • ใบใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มอบไอน้ำ ช่วยรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคันตามตัวได้ (ใบ)
  • ช่วยแก้โรคผิวหนังมีผื่นคัน (ดอก)
  • ช่วยแก้มะเร็งคุดทะราด แก้กลากเกลื้อนและหิด (ดอก, ใบ, ต้น, ราก)
  • ช่วยแก้โรคเรื้อนใหญ่ เรื้อนน้อย (ใบ, ต้น, ราก)
  • ช่วยแก้โรคมือเท้าไม่มีกำลังได้ (ต้น)
  • เถาและก้านนำมาใช้ดองกับสุรากิน จะช่วยทำให้ผิวหนังชา ผิวอยู่ยงคงกระพันเฆี่ยนตีไม่แตก นักเลงสมัยโบราณนิยมกันมากทั้งนำมากินและนำมาทา (เถา, ก้าน)
  • น้ำยางสีแดงสามารถนำมาใช้เป็นหมึกเพื่อใช้สักยันต์ตามตัวเพื่อทำให้หนังเหนียวได้ (น้ำยางสีแดง)
  • ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ด้วยการใช้หัวสบู่เลือดฝานบาง ๆ ประมาณ 2 กำมือ นำมาดองกับเหล้าขาว 1 ขวด แล้วเติมน้ำผึ้งพอประมาณ ดองทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน ใช้ดื่มครั้งละ 1 แก้วเป๊ก ก่อนอาหาร 3 มื้อและช่วงก่อนนอน (หัว)


 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “กระท่อมเลือด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [11 พ.ย. 2013].
  • ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “กระท่อมเลือด“.  อ้างอิงใน: หนังสือสยามไภษัชยพฤกษ์. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [11 พ.ย. 2013].
  • โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “Stephania venosa (Blume.) Spreng“.  อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [11 พ.ย. 2013].
  • จำรัส เซ็นนิล.  “สบู่เลือด แก้ลมชัก-ไตพิการ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net.  [10 พ.ย. 2013].
  • ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “เปล้าเลือด“.  อ้างอิงใน: หนังสือชุดพรรณไม้เมืองไทย พืชสมุนไพร 1.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [11 พ.ย. 2013].
  • ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กลิ้งกลางดง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [11 พ.ย. 2013].
  • หนังสือสมุนไพรกำจัดโรค.  (คีตะธารา).
  • กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ .  “กระท่อมเลือด…แดงปลั่ง ให้กำลังหญิงชาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rakkhaoyai.com.  [11 พ.ย. 2013].
  • PP Miracle Herb.  “สมุนไพรว่านสบู่เลือด“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ppmiracleherb.com.  [11 พ.ย. 2013].
  • https://medthai.com/สบู่เลือด/