มะขามป้อม
  ชื่อสามัญภาษาไทยมะขามป้อม
  ชื่อวิทยาศาสตร์Phyllanthus emblica Linn.
  ชื่อพ้องEmblic myrabolan , Malacca tree , Indian gooseberry.
  ชื่อวงศ์Euphorbiaceae
  ชื่อท้องถิ่นกันโตด (เขมร) กำทวด (ราชบุรี) มิ่งลู่ สันยาส่า (กะเหรี่ยมแม่ฮ่องสอน) อะมะลา (ฮินดู เปอร์เซีย)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะขามป้อมเป็นพันธุ์ไม้ที่ทนแล้วได้ดี เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 8 – 20 เมตร ขนาดโตวัดรอบไม่เกิน 80 เซนติเมตร ลำต้นมักคดงอ เปลือกค่อนข้าเรียบเกลี้ยง สีน้ำตาลอ่อน เปลือกในสีชมพูสด เรือนยอดรูปร่ม 

ใบมะขามป้อมมีใบเป็นช่อ แต่ละช่อมีใบย่อยเล็กๆ รูปขอบขนานติดเป็นคู่ๆ เยื้องๆ กัน ปลายใบมน มีรอยหยักเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ สีเขียวอ่อน กว้าง 0.25 – 0.50 เซนติเมตร ยาว 0.8 – 1.2 เซนติเมตร เรียงชิดกัน ก้านใบสั้นมาก ใบย่อยจำนวน 22 คู่ เส้นใบไม่ชัดเจน เส้นกลางใบเห็นได้รางๆ 

ดอกมะขามป้อม มีดอกเล็ก สีขาวนวล แยกเพศกัน แต่เกิดบนกิ่งและต้นเดียวกัน ออกดอกตามง่ามใบ 3 – 5 ดอก มีกลีบรองดอก 6 กลีบ ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ 3 อัน ฐานรองดอกมี 6 แฉก ดอกเพศเมีย มีฐานรองดอกเป็นรูปถ้วย ขอบถ้วยหยัก รังไข่มี 3 ช่อง หลอดท่อรังไข่ปลายแยกเป็น 2 แฉก ไม่เท่ากัน 

ผลมะขามป้อม กลม มีเนื้อหนา เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2 – 2 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน ผลแก่มีสีเขียวค่อนข้างใส มีเส้นริ้วๆ ตามยาวพอสังเกตได้ 6 เส้น เนื้อกินได้ มีรสฝาด เปรี้ยว ขม และอมหวาน เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง 6 สัน มี 6 เมล็ดใน 1 ผล 

ระยะเวลาในการออกดอกและเป็นผล ประมาณเดือนกันยายน และเป็นผลประมาณเดือน พฤศจิกายน –ธันวาคม-มกราคม-กุมภาพันธ์

สรรพคุณทั่วไป

  • ใช้เป็นน้ำยาบ้วนปาก แก้ปวดฟัน
  • แก้ปวดท้องน้อย กระเพาะอาหาร
  • แก้ปวดเมื่อยกระดูก
  • แก้ไอ ละลายเสมหะ
  • แก้ตานซางในเด็ก
  • แก้กระหายน้ำได้เป็นอย่างดี
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • เป็นยาระบาย
  • รักษาคอตีบ
  • รักษาเลือดออกตามไรฟัน
  • เป็นยาถ่ายพยาธิ
  • แก้ท้องเสีย
  • รักษาโรคหนองใน
  • บำรุงธาตุ
  • รักษาโรคบิด
  • ใช้ล้างตา แก้ตาแดง เยื่อบุตาอักเสบ
  • แก้ตกเลือด ใช้เป็นยาล้างตา
  • รักษาโรคดีซ่าน 
  • ทาแก้ตุ่มคัน หืด
  • รักษาโรคเบาหวาน
  • รักษาโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ
  • แก้คลื่นไส้ อาเจียน
  • ต้านอนุมูลอิสระและยังยั้งการสร้างเมลานินได้
  • บำรุงผิวขาว และช่วยชะลอความแก่

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  ผลกัดเสมหะ ขับปัสสาวะ 
  เปลือกสมานแผล
  ต้นสมานแผล
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

ประโยชน์มะขามป้อม แก้ไอ ช่วยกระตุ้นให้น้ำลายออก ช่วยละลายเสมหะ มีวิธีใช้ดังนี้ 
  • ใช้เนื้อผงสด ครั้งละ 2-5 ผล โขลกพอแหลก แทรกเกลือเล็กน้อย อม หรือ เดี่ยว วันละ 3-4 ครั้ง 
  • ผลมะขามป้อมสดฝนกับน้ำแทรกเกลือจิบบ่อยๆ หรือใช้ผลมะขามป้อมสดจิ้มเกลือรับประทาน 
  • ผลสดตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือผลแห้ง 6-12 กรัม (ผลสด 10-30 ผล) คั้นน้ำดื่มหรือเคี้ยวอมบ่อยๆ 
  • อาการเป็นหวัด ไอ เจ็บคอ ปากคอแห้ง ใช้ผลสด 15-30 ผล คั้นเอาน้ำ มาจากผล หรือต้มทั้งผลแล้วดื่ม แทนน้ำเป็นครั้งคราว

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. มะขามป้อม.ฐานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=258
  2. รายงานผลการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ผลไม้ป่า”มะขามป้อม”เพิ่มคุณค่าอาหารกลางวัน.ชุมนุมอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชโรงเรียนบ้านหนองไผ่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต 3 ร่วมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์.หน้า6-15
  3. แฉล้ม มาศวรรณา และนิวัฒน์ มาศวรรณา.มะขามป้อมสมุนไพรของคุณค่ากสิกร เกษตรน่ารู้. น.ส.พ.กสิกรปีที่ 82 ฉบับที่ 2 มีนาคม - เมษายน 2552 หน้า 53 - 60
  4. ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร.มะขามป้อมสมุนไพรที่ไม่ควรมองข้าม.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 309 คอลัมน์ เรื่องเด่นจากปก. มกราคม 2548
  5. ชนิดา กานต์ประชา, ชาญณรงค์ นาคจำรัสศรี , วิศรุต บูรณสัจจะ . 2548.การแยกสาระสำคัญในสารสกัดมะขามป้อม . คณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,กรุงเทพฯ
  6. มะขามป้อม.ฐานข้อมูลเครื่องยา.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=101
  7. มะขามป้อม.สมุนไพรล้างพิษ.สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.tmri.dtam.moph.go.th/heab/makampom.php
  8. อุบลทิพย์ พิมมานนิตย์.2552.การพัฒนาสารสกัดมะขามป้อมเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยา อาหารและ เครื่องสำอาง.หน้า 79-91 การเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านการพัฒนาสมุนไพรสู่ระดับอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2 .สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.),กรุงเทพฯ
  9. ยาน้ำแก้ไอผสมมะขามป้อม.ยาบรรเทาอาการไอ.บัญชีหลักแห่งชาติ.
  10. ปราณี ชวลิตธำรง, เอมนัส อัตตาวิชญ์ , พัช รักษามั่น , ปราณี จันทร์เพ็ชร.2539.พิษกึ่งเฉียบพลันของยาโบราณตรีผลา.วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.ปีที่ 38 ฉบับที่ 3 .กรกฎาคม – กันยายน.หน้า 161 – 191
  11. นพ.วีรพัฒน์ เงาธรรมทรรศน์.มะขามป้อม ช่วยต้านพิษต่างๆ การช่วยส่งเสริมการใช้และปลูกแทนข้าวโพดบ้าง (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.gotoknow.org/posts/218720
  12. สุพจน์ อัศวพันธุ์ธนกุล.มะขามป้อม ผลไม้ที่ดีที่สุด.ข่าวสารสมุนไพร ฉบับที่ 39 ประจำเดือน กันยายน – พฤศจิกายน 2532
  13. นันทวัน บุญยะประภัศร , อรนุช โชคชัยเจริญพร , บรรณาธิการ . สมุนไพรพื้นบ้าน (3).กรุงเทพมหานคร : บริษัทประชาชนจำกัด ; 2542: หน้า 510 – 519