บวบเหลี่ยม
  ชื่อสามัญภาษาไทยบวบเหลี่ยม
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษAngled gourd , Angled loofah
  ชื่อวิทยาศาสตร์Luffa acutangula (Linn.) Roxb
  ชื่อพ้อง-
  ชื่อวงศ์Cucurbitaceae
  ชื่อท้องถิ่นมะนอย , หมักนอย ,มะนอยเหลี่ยม (ภาคเหนือ),บักบวม (ภาคอีสาน) , มะนอยหวาน (แม่ฮ่องสอน),กะตอรอ(ปัตตานี) , เดเรส่า , เดเรเนอมู (กะเหรี่ยง) , หมากไห (ไทยใหญ่) อ๊อซีก่วน (จีน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

บวบเหลี่ยมจัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยหรือเป็นล้มลุกมีอายุเพียงปีเดียว ชอบเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้อื่นหรือทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน เถาหรือลำต้นเป็นเหลี่ยม ตามบริเวณข้อเถามีมือสำหรับใช้ยึดเกาะเป็นเส้นยาว บางทีแยกเป็นหลายแขนง โคนต้นจะมีขนาดใหญ่กว่าปลายยอด 

ใบดอกเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบทั่วคล้ายกับใบบวบหอม แต่จะมีรอยเว้าเข้าตื้นกว่า ลักษณะของใบเป็นรูป 5-7 เหลี่ยม ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้า หลังใบและท้องใบเรียบ มองเห็นเส้นใบได้ชัดเจนทั้งสองด้าน เนื้อใบค่อนข้างหนา ก้านใบเป็นเหลี่ยม โดยยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร 

ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว แยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกจะออกเป็นช่อๆ ตามซอกใบ กลีบดอกเป็นสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นรูปไข่กลมบางและย่น โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ด้านนอกมีขนสั้นและอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ ดอกเพศผู้จะมีเกสรเพศผู้ประมาณ 2-3 ก้าน ส่วนดอกเพศเมียรังไข่จะเป็นรูปขอบขนาน ท่อรังไข่เป็นรูปทรงกระบอกภายในรังไข่มีช่อง 3 ช่อง และมีไข่อ่อนเป็นจำนวนมาก ผลเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดสั้นกว่าบวบหอม แต่

ผลจะมีเหลี่ยมเป็นสันตามความยาวของผล โดยผลจะมีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เปลือกของผลหนา ปลายผลโตโคนผลเรียวเล็ก เนื้อในผลมีรสขม ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดเมื่อแห้งจะเป็นเมล็ด สีมีลักษณะสีดำแบนมันวาว ในหนึ่งผลจะมีเมล็ดเป็นจำนวนมาก

สรรพคุณทั่วไป

  • ช่วยบำรุงร่างกาย
  • แก้ร้อนใน
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • รักษาคางทูม
  • ช่วยลดไข้
  • แก้บิด
  • แก้ปวดท้อง
  • ช่วยขับน้ำนม
  • ช่วยทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
  • รักษาอาการไอเจ็บคอ
  • แก้หอบ
  • ช่วยใช้รักษาสตรีที่ตกเลือด
  • รักษาแผลเรื้อรัง
  • รักษากลากเกลื้อน
  • รักษาแมลงสัตว์กัดต่อย
  • ใช้แก้ปวดศีรษะ
  • แก้จมูกอักเสบ
  • แก้เจ็บคอ
  • แก้บวมช้ำ
  • ช่วยระบายท้อง
  • แก้หวัด
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้เหน็บชา
  • ช่วยขับพยาธิตัวกลม(เนื้อในเมล็ด)
  • ช่วยขับนิ่ว
  • ช่วยทำให้อาเจียน
  • แก้อาการปวดเอวเรื้อรัง

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • แก้โพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง ด้วยการนำรากบวบเหลี่ยมนำมาต้มกับน้ำใช้ดื่ม หรือจะใช้ดอกสดตำร่วมกับฮั่วเถ่าเช่าสด ใช้เป็นยาพอกก็ได้หรืออาจจะใช้เถาบริเวณใกล้กับรากนำไปเผาให้เป็นถ่าน แล้วบดให้เป็นผงผสมกับเหล้ากิน
  • ใช้ระยายท้อง แก้เจ็บคอ แก้อาการบวมช้ำ โดยนำรากบวบตากแห้งต้มกับน้ำ ชงเป็นชาดื่ม
  • ใช้รักษาคางทูม โดยใช้ใยผล (รังบวบ) เผาเป็นถ่าน ผสมกับน้ำใช้ทาบริเวณที่ปวด 
  • ใช้ขับเสมหะขับปัสสาวะให้นำใบบวบตากแห้ง 5 กรัม ชงกับน้ำร้อน 1 แก้วกาแฟ ดื่มก่อนอาหาร เช้า-เย็น
  • ใช้รักษาอาการไอ เจ็บคอ และหอบ ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 6-10 กรัมผสมต้มแล้วรินมาผสมกับน้ำผึ้งใช้จิบเป็นยา หรือจะใช้น้ำจากเถาสดผสมกับน้ำตาลทรายเล็กน้อยจิบกินพอประมาณก็ใช้เป็นยาแก้ไอ ได้เช่นกัน
  • ใช้รักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยใช้เถาแห้งประมาณ  ประมาณ 250 กรัม หั่นเป็นฝอยแล้วแช่กับน้ำจนพองตัว แล้วนำไปต้มแยกเอากากออก ใส่น้ำตาลพอประมาณ แล้วกินวันละ 2-3 ครั้งติดต่อกันประมาณ 10 วัน ใบแก้บิด ใช้ใบให้ใช้ประมาณ 500-600มิลลิกรัม นำมาต้มกับน้ำกิน
  • ใช้ขับพยาธิตัวกลม นำเมล็ดแก่มาเคี้ยวกินตอนท้องว่าง (เด็กให้กินครั้งละประมาณ 30 เม็ด หากเป็นผู้ใหญ่ให้ใช้ 40-50 เม็ด) ติดต่อกัน 2 วัน หรือจะนำมาเมล็ดแห้งบดให้ละเอียดใส่แคปซูลกินวันละครั้งก็ได้
  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ โดยใช้ดอกแห้งประมาณ 10กรัมนำไปต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้ใบสด 1 กำมือนำมาต้มกับน้ำ ใส่น้ำพอท่วมแล้วต้มจนเดือดแล้วนำน้ำที่ได้มาดื่ม
  • แก้อาการบวมน้ำ ด้วยการใช้น้ำจากเถาผสมกับน้ำตาลทรายกิน หรือนำราก มาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะช่วยบำรุงร่างกาย แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ลดไข้โดยการนำผลอ่อนมาประกอบอาหารรับประทานหรือจะนำผลอ่อนใส่น้ำพอท่วมต้มให้เดือดใช้ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น ก็ได้
  • แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษคัน รักษาบาดแผลเรื้อรัง แผลจากแมลงสัตว์กัดต่อย ผิวหนังเป็นผดผื่นคัน รักษากลากเกลื้อน ด้วยการใช้ใบนำมาต้มเอาแต่น้ำใช้ชะล้าง หรือใช้ใบสดตำพอก หรือใช้ใบแห้งบดให้เป็นผงละเอียดผสมเป็นยาทาก็ได้  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “บวบเหลี่ยม”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 410-412. 
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ขยัน (Khayan)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 58. 
  3. หนังสือผักกินใบ, 2541. (สุนทร เรืองเกษม). 
  4. หนังสือผักพื้นบ้าน 2, 2547. (อุไร จิรมงคลการ). 
  5. หนังสือสวนผัก, 2525. (เมืองทอง ทวนทวี และสุรีรัตน์ ปัญญาโตนะ). 
  6. หนังสือ Tropical Crops : Dicotyledons., 1974. (Purseglove, J. W.). 
  7. หนังสือ Vegetable Crops of India., 2003. (Wang, H. Y., C. L. Chen and J. M. Sung). สำนักโภชนาการ, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. “ผักและผลิตภัณฑ์ (Vegetables and products)”. เข้าถึงได้จาก: nutrition.anamai.moph.go.th/FoodTable/Html/gr_04_2.html. [28 มี.ค. 2014]. 
  8. บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “บวบหอมและบวบเหลี่ยม”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [29 มี.ค. 2014]. 
  9. https://www.disthai.com/17149756/บวบเหลี่ยม